ไม่ว่าจะเป็นคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชาย คงไม่มีใครอยากมีแผลเป็นบนเรือนร่าง โดยเฉพาะ “แผลเป็นคีลอยด์” ที่นอกจากจะระคายเคืองผิวแล้ว ยังแลดูไม่สวยงาม และทำให้เสียความมั่นใจอีกด้วย
แผลเป็น ‘คีลอยด์’ คืออะไร?
‘คีลอยด์’ เป็นก้อนเนื้องอกที่เกิดจากแผลเป็นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากแผลเป็นทั่วไป คือ โตไว และเป็นแผลนูนที่มีการขยายขนาด ลุกลามออกไปนอกขอบเขตเดิมของบาดแผล บางครั้งอาจจะมีอาการคันหรือเจ็บที่ก้อนได้ มักพบในตำแหน่งที่มีความตึงของแผลมาก เช่น ใบหู กรอบขากรรไกร หัวไหล่ หน้าอก และต้นแขน
สาเหตุการเกิดแผลคีลอยด์
โดยทั่วไปผิวหนังจะมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลตามธรรมชาติ 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งสาเหตุของการเกิดแผลคีลอยด์นั้น มาจากความผิดปกติของกระบวนการซ่อมแซมของบาดแผล โดยพบการเพิ่มขึ้นของเซลล์ที่สร้างคอลลาเจน จำนวนเส้นเลือดที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงมีการสะสมของคอลลาเจนชนิดที่มีความผิดปกติ จนทำให้มีลักษณะของก้อนเนื้อคีลอยด์ในที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์
- เชื้อชาติ : แผลคีลอยด์พบในคนผิวสี และชาวเอเชียมากกว่าคนผิวขาว
- พันธุกรรม : หากคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นแผลคีลอยด์ได้ง่าย หรือบางคนมีประวัติเป็นแผลเป็นคีลอยด์ที่ตำแหน่งอื่นมาก่อน ก็มีแนวโน้มการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต
- ตำแหน่ง : บริเวณผิวหนังที่มีความตึงของผิวมาก ได้แก่ บริเวณหัวไหล่ หน้าอกและหลังส่วนบน ใบหู หรือตำแหน่งที่มีแผลเย็บ เช่น ตำแหน่งผ่าท้องคลอด หรือแผลศัลยกรรมเต้านม เป็นต้น
- อาการจากการเกิดโรค : ระดับของการอักเสบ หรือการติดเชื้อ
- ฮอร์โมน : มีรายงานการพบแผลเป็นคีลอยด์มากกว่าปกติ ในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ และในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
การรักษาคีลอย์โดยแพทย์เฉพาะทาง
- การฉีดยาสเตียรอยด์ (Intralesional corticosteroid) เป็นวิธีการรักษามาตรฐาน ซึ่งแพทย์จะใช้ยา Triamcinolone acetonide ฉีดเข้าไปในบริเวณที่เป็นแผลเป็น หรือก้อนคีลอยด์โดยตรง ตัวยามีฤทธิ์ลดการอักเสบ และลดการทำงานของเซลล์ที่สร้างคอลลาเจนส่วนเกิน หลังฉีด แผลคีลอยด์จะยุบลง มีความนุ่มขึ้น แต่ในกรณีที่ฉีดสเตียรอยด์ความเข้มข้นสูง ติดต่อกันหลายครั้ง มีโอกาสเกิดผิวหนังเป็นรอยขาว ผิวบาง ผิวเป็นเส้นเลือดฝอย หรือผิวแตกลายได้
- การฉีดยาระงับการเจริญเติบโตของก้อน (Anti-neoplastic drugs) เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาคีลอยด์ที่ให้ผลการรักษาที่ดี ใช้ในรายที่ให้ยาฉีดสเตียรอยด์แล้วผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร และช่วยลดการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาที่ใช้ยาฉีดสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว
- การผ่าตัด (Surgical excision/incision) เป็นวิธีการตัดก้อนออก หรือลดขนาดของแผลเป็นให้เล็กลง เป็นการรักษาที่ให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว และให้ผลดีในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาฉีดรักษา อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ หลังการผ่าตัด เพราะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ถึงแม้จะผ่าตัดออกไปแล้วก็ตาม
- การฉีดยาสเตียรอยด์ ร่วมกับการใช้เลเซอร์ส่งผ่านยาเพื่อระงับการเจริญเติบโตของก้อน (Laser-assisted drug delivery [LADD]) เป็นการรักษาแบบบูรณาการที่คิดค้นขึ้น ซึ่งรวมเอาหลายๆ วิธีที่มีข้อมูลสนับสนุนทางงานวิจัยมาใช้ เพื่อช่วยให้การรักษาคีลอยด์ต่อหนึ่งครั้งที่มาโรงพยาบาลได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้การรักษาคีลอย์จะให้ผลที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับระยะเวลาที่เป็น ตำแหน่ง ขนาดของก้อน และการตอบสนองของการรักษาของแต่ละบุคคล
ผิวที่เรียบเนียน คือความปรารถนาของทุกคน ฉะนั้นหากมีสิ่งใดมาลดทอนความสวยงามของผิวจนบั่นทอนความมั่นใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยเร็ว เพื่อผิวสวยๆ จะได้อยู่กับคุณไปนานๆ
นพ. พชรวรรธน์ จิระสุทัศน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และเวชศาสตร์ครอบครัว
ศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์