“โรคลมพิษ” เป็นแล้ว…ต้องรับมือให้เป็น
บางครั้งที่ผิวของเราเกิดความผิดปกติ เป็นผื่นแดงๆ มีอาการคัน และเราก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร หรือเกิดจากอะไร คิดว่าปล่อยๆ ไปก็คงหายเอง แต่ผ่านไปหลายวันก็ยังไม่หาย แถมยังมีอาการมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าเป็นแบบนี้ให้ลองสังเกตดีๆ ว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังของคุณนั้น ใช่ “ลมพิษ” หรือไม่?
ผื่นแบบไหนที่เรียกว่า “ลมพิษ”
“ลมพิษ (Urticaria)” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยในชีวิตคนเราอาจจะพบผื่นลมพิษขึ้นอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตได้ที่ประมาณ 8-22% โดยพบได้ทั้งในเพศหญิง เพศชาย และทุกช่วงอายุ
ลมพิษจะมีลักษณะเป็นผื่นบวม นูน แดง กระจายตามลำตัว แขนขา หรือบริเวณใบหน้า และจะมีอาการคันร่วมด้วย โดยทั่วไปผื่นนั้นจะค่อยๆ ยุบลงได้เองภายใน 24 ชั่วโมง (แต่สักพักก็กลับมาขึ้นใหม่ตามระยะเวลาในการดำเนินโรค) ในบางรายที่เกิดอาการบริเวณเนื้ออ่อน เช่น ริมฝีปาก หรือหนังตา จะเรียกว่า ภาวะแองจิโออีดีมา (Angioedema) อาจเป็นได้นาน 2-3 วัน ถึงจะค่อยๆ ยุบ และในบางรายอาจมีอาการบวมในระบบทางเดินอาหารทำให้รู้สึกปวดแน่นท้อง หรือมีอาการในระบบทางเดินหายใจทำให้แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก และถ้ามีอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ประเภทของโรคลมพิษ
หลายคนคงคุ้นหูกับ “โรคลมพิษ” แต่คงยังไม่แน่ใจนักว่าโรคลมพิษที่รู้จักนั้น มีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งโดยหลักๆ โรคลมพิษ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามระยะเวลาในการเป็น
- ลมพิษชนิดเฉียบพลัน
มักมีอาการต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ประมาณ 50% จะเกิดขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ นอกนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน การแพ้ยา และแพ้อาหารตามลำดับ
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง
มักมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยเป็นต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ และเป็นอย่างน้อย 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ลมพิษชนิดนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลมพิษชนิดที่เกิดจากการกระตุ้น (Inducible urticaria) อย่างการขูดขีด ความร้อน ความเย็น การออกกำลังกาย เป็นต้น หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาจากโปรตีนในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่น จากยา จากการติดเชื้อ หรืออาจเป็นชนิดที่ไม่พบสาเหตุจำเพาะเลยก็เป็นได้
“โรคลมพิษ” เกิดจากสาเหตุใด และสิ่งใดที่อาจกระตุ้นให้เกิดลมพิษได้บ้าง?
การเกิดโรคลมพิษมีได้หลายสาเหตุ และปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคลมพิษของแต่ละคนก็อาจไม่เหมือนกัน มาดูกันว่ามีสาเหตุใดบ้าง
- แพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูดในอาหาร หรือสีผสมอาหารบางชนิด
- แพ้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาแก้ปวด แอสไพริน เป็นต้น
- แพ้ฝุ่น ละอองเกสร พืชบางชนิด และขนสัตว์
- การติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือพยาธิ
- ในบางรายที่มีปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น หรือแสงแดด เป็นต้น
- สารทึบรังสี (Contrast Media) ที่ใช้ในการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- ผิวหนังสัมผัสสารเคมีหรือยาบางชนิด เช่น ยาทาแก้อักเสบ เป็นต้น
- การให้เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือด
- ในบางรายที่มีภาวะแพ้ภูมิตัวเอง ผื่นอาจเกิดจากโปรตีนในเลือดของผู้ป่วยเองที่ไปกระตุ้นเซลล์อักเสบให้หลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการของลมพิษขึ้น
วิธีรับมือกับโรคลมพิษ
หากรู้แล้วว่าตัวเองเป็นลมพิษ สิ่งที่ควรปฏิบัติเบื้องต้นคือ
- พยายามนึกถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลา 1-2 ชั่วโมงก่อนผื่นขึ้นว่าไปทำอะไรมา หรือกินอะไรไป เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่น
- รักษาสภาพผิวให้สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีภาวะผิวแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคันได้
- ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ และเป็นรอยขึ้นมาได้
- ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และวิเคราะห์หาสาเหตุของโรค ตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย
พบแพทย์ทันที…เมื่ออาการน่าสงสัย
“โรคลมพิษ” นอกจากจะก่อให้เกิดอาการคัน และความรำคาญแล้ว ในบางรายที่มีอาการมากๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ฉะนั้นหากคุณหรือคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคลมพิษ หรือมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะใช่โรคลมพิษหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- ผื่นที่มีอาการคัน บวมแดง ขึ้นไว ยุบไว แต่สักพักก็กลับมาเป็นใหม่
- หากเป็นลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง อาจพบอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง ร่วมกับมีอาการหน้าบวม ตาบวม ปากบวม ซึ่งถ้ามีอาการต่างๆ เหล่านี้ ถือว่าเป็นภาวะอาการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ให้รีบมาพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินทันที
โรคลมพิษ จะมีอาการมากหรืออาการน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของโรค และการดูแลรักษาตัวเองของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นหากท่านใดที่มีอาการลมพิษ หรือสงสัยลมพิษ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อที่จะหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาร่วมกันต่อไป
นพ. พชรวรรธน์ จิระสุทัศน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และเวชศาสตร์ครอบครัว
ศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์