TMVR หรือ Transcatheter Mitral Valve Replacement เป็น ‘การเปลี่ยนลิ้นหัวใจไมตรัลผ่านสายสวนในผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบหรือรั่ว โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก’ ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจอาจเกิดขึ้นได้จากความพิการแต่กำเนิด ปัญหาสุขภาพอื่นๆ หรือจากอายุที่มากขึ้น โดยลิ้นหัวใจสามารถเสื่อมสภาพลงอย่างช้าๆ เรียกว่าเป็นภาวะของโรคลิ้นหัวใจเสื่อม โดยมักพบว่าส่งผลกระทบต่อลิ้นหัวใจไมตรัลบ่อยกว่าส่วนอื่นๆ
อาการแบบไหน อาจเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจไมตรัล ?
หากมีอาการไอ เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ไม่มีเรี่ยวแรง หรือเดินขึ้นบันไดแค่ 2 ชั้นก็เหนื่อยมากกว่าคนปกติ อาการเหล่านี้… อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของหัวใจ หรือเกิดภาวะน้ำท่วมปอด ถ้าปัญหาเกิดจากลิ้นหัวใจ มักพบในลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย หรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า “ลิ้นหัวใจไมตรัล” (Mitral valve) ซึ่งถ้าลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว จะทำให้เลือดในระบบหัวใจห้องล่างซ้ายย้อนกลับเข้ามาที่ห้องบนซ้าย หัวใจห้องบนซ้ายจึงได้รับเลือดมากกว่าปกติ และเกิดการคั่งของเลือดในระบบหัวใจ ฉะนั้นเลือดที่มาจากปอดที่ฟอกแล้วจะกลับมาสู่หัวใจได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดการคั่งของเลือดในปอด
การรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลด้วยการทำ TMVR ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
เดิมนั้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ทันสมัย จึงต้องรักษาผู้ป่วยลิ้นหัวใจด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าอก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนาน เจ็บปวดจากแผลผ่าตัด และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อายุ 75 ปีขึ้นไป
แต่ในปัจจุบันแพทย์สามารถรักษาได้แบบไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม โดยใช้วิธีฝังลิ้นหัวใจเทียมขนาดเล็กผ่านการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดดำต้นขาบริเวณขาหนีบ ซึ่งแผลจะมีขนาดเล็กมาก ทำให้คนไข้ไม่ต้องพักฟื้นนาน ไม่เสียเลือดในขณะทำการรักษา และมีภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการผ่าตัด หลังการรักษา อาการผิดปกติที่เกี่ยวกับโรคลิ้นหัวใจไมตรัลจะดีขึ้น จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การทำ TMVR เหมาะกับใครบ้าง ?
- ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วม หรือผู้ที่เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาแล้วมากกว่า 7 ปีขึ้นไป และลิ้นเดิมเสื่อมสภาพหรือชำรุด
- ผู้ที่มีลิ้นหัวใจไมตรัลตีบหรือรั่ว และมีคราบหินปูนเกาะมากพอที่จะให้ลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปเกาะกับลิ้นเดิมได้
ไม่อยากมีปัญหาลิ้นหัวใจ ลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็วๆ (โดยต้องปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนเสมอ) การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด “ไม่ดี” (LDL) และช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิด “ดี” (HDL) ได้
- ควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ปัญหาการหายใจและอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ โดยการตรวจสุขภาพและทำตามคำแนะนำของแพทย์
- รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ทั้งนี้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไป
- เลิกสูบบุหรี่ และพยายามหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง เพราะสารพิษในควันบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ ทั้งยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ให้ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการแย่ลง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยจำกัดการบริโภคโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หันมารับประทานผัก ผลไม้ไม่หวาน ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อไม่ติดมัน ปลา พืชตระกูลถั่ว เพื่อสร้างรากฐานของการมีสุขภาพดีจากการกิน “อาหารเพื่อสุขภาพหัวใจ”