การปลูกถ่ายไต คืออะไร?
การปลูกถ่ายไต คือ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยการรับไตจากผู้อื่น ซึ่งที่มาของไตอาจได้รับจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ ทั้งนี้ผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่จะต้องเป็นสมาชิกในครอบครัวและมีผลเลือดที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตในลักษณะนี้เรียกว่า ‘การปลูกถ่ายไตแบบผู้บริจาคมีชีวิต’ ซึ่งผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ตามปกติด้วยไตข้างที่เหลือ
ข้อดีในการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต
- หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เสมือนหนึ่งได้กลับมาชีวิตใหม่อีกครั้ง
- ช่วยในการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องอีกต่อไป
- จะได้รับการติดตามผลการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจ และเข้าถึงการดูแลสุขภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนไตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
กรณีผู้ป่วยโรคไตไม่ได้รับการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนไต อาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องไปตลอดชีวิต โดยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
วิธีการปลูกถ่ายไต
คือการนำไตของผู้อื่นที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยไม่ต้องผ่าตัดเอาไตที่เสื่อมออก การผ่าตัดจะทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือด และต่อท่อไตใหม่เข้ากับกระเพาะปัสสาวะ การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็เพียงพอ หากร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี
ทังนี้ หลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทานร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตเสียหายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การปลูกถ่ายไตใหม่สามารถได้รับจากที่ใดบ้าง?
ผู้บริจาค (Donor)
ไตที่นำมาใช้ปลูกถ่ายจะได้มาจาก 2 แหล่ง คือ จากคนบริจาคที่ยังมีชีวิต (Living Donor) และจากคนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว (Cadaveric Donor)
การบริจาคไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต
ตามกฎหมายที่แพทยสภาแห่งประเทศไทยถือปฏิบัติอยู่ ผู้บริจาคที่มีชีวิตต้องเป็น ญาติโดยทางสายเลือด รวมถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน และญาติ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นญาติโดยทางสายเลือดอย่างแท้จริง ทั้งทางด้านการแพทย์และหรือทางด้านกฎหมาย สำหรับ สามีหรือภรรยา ที่จะบริจาคไตให้คู่ครองของตนจะต้องแต่งงานโดยมีทะเบียนสมรสมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และ/หรือมีลูกสืบสกุลที่เกิดจากสามีภรรยาคู่นั้น ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคควรมีเลือดกรุ๊ปเดียวกัน หรือเป็นกรุ๊ปเลือดที่เข้ากันได้ และผลการทดสอบเข้ากันได้ของเลือดจะต้องไม่มีปฏิกริยาต่อต้านกัน
สิ่งสำคัญที่ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตอยู่จะต้องปฏิบัติ
ต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างละเอียด เพื่อให้มีความแน่ชัดว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ผู้บริจาคต้องมีความเข้าใจในเรื่องการบริจาค มีความตั้งใจ เต็มใจที่จะช่วยเหลืออย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากอามิสสินจ้างตอบแทน
ภายหลังการบริจาคไต ผู้บริจาคไตจะเหลือไตเพียงข้างเดียว ซึ่งจะใช้เวลาพักฟื้นเพียง 2-4 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผู้บริจาคจะยังคงมีสุขภาพ แข็งแรงปกติเหมือนคนที่มีไต 2 ข้าง สามารถทำงาน ออกกำลังกาย เดินทาง และมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติ เพียงแต่ควรระมัดระวังดูแลไตที่เหลือไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรือเกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อไต
การบริจาคไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว
ผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว หมายถึง ผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือตายแล้ว การตายนี้ต้องได้รับการพิสูจน์และยืนยันโดยคณะแพทย์ และญาติผู้ตายแสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของผู้ตายคนนั้น ขั้นตอนในการวินิจฉัยการเสียชีวิตและการรับบริจาคอวัยวะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแพทยสภาและของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยอย่างเคร่งครัด แพทย์ในประเทศไทยสามารถให้การวินิจฉัยการเสียชีวิตของคนไข้ได้ โดยยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยแพทยสภา เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าคนไข้มีแกนสมองไม่ทำงานอย่างถาวรโดยมีสาเหตุที่ชัดเจน ถือว่าแกนสมองตาย และสมองตาย จึงจะถือว่าเป็นการเสียชีวิตที่สมบูรณ์ถึงแม้ว่าหัวใจยังเต้นอยู่ก็ตาม ญาติของผู้เสียชีวิตในลักษณะนี้สามารถแสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะของผู้ตายได้
การเสียชีวิตที่ชัดเจนแบบข้างต้น ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และมีการบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรงและถาวร หรืออาจจะมาจากผู้เสียชีวิตที่เส้นเลือดในสมองแตกและสมองถูกทำลายอย่างรุนแรงถาวร เมื่อไตที่บริจาคถูกนำออกจากร่างกายของผู้บริจาคแล้ว ถ้าได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีจะสามารถเก็บได้นานถึง 48 ชม.
เปิดโอกาสให้ตนเองได้ปลูกถ่ายไตเร็วขึ้น
นายแพทย์ สมนึก ดำรงกิจชัยพร แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคไต ประจำศูนย์โรคไตโรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า
“สำหรับผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนไต สามารถเปิดโอกาสให้ตัวเองเพื่อจะได้รีบดำเนินการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต โดยที่ไม่ต้องรอคิวนานมากเกินไป ซึ่งศูนย์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท 1 มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผ่าตัดรักษาเฉพาะทางด้านโรคไตโดยตรง และให้การบริการรักษาเปลี่ยนไตมากว่า 26 ปี จึงมีความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้
- มีความพร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคไตและทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคไตอย่างมุ่งมั่นตั้งใจและเต็มความสามารถ
- กรณีที่มีความต้องการเปลี่ยนไต ผู้รับบริการหรือผู้ป่วยโรคไตสามารถสำรองคิวเพื่อรอรับไต โดยไม่ต้องรอคิวนานมากนัก
- ในด้านความสะอาดและความปลอดภัย มีการผ่าตัดรักษาเปลี่ยนไตได้สำเร็จอย่างปลอดภัยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19
ทั้งนี้ นอกจาก ‘การผ่าตัดปลูกถ่ายไต’ แล้ว โรงพยาบาลพญาไท 1 ยังเป็นสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการ ‘ให้บริการล้างไต’ และพร้อมดูแล ‘รักษาโรคไตในทุกระยะ’ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไต ด้วยทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมดูแลให้บริการอย่างเต็มที่
สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีความต้องการจะรักษา ฟอกไตหรือล้างไต รวมถึง ปลูกถ่ายเปลี่ยนไต สามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์โรคไต รพ.พญาไท 1 ได้โดยตรง
ศ. นพ. สมนึก ดำรงกิจชัยพร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต
ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลพญาไท 1