เมื่อเรารับประทานอาหาร กระเพาะอาหารจะทำหน้าที่ในการย่อยเพื่อส่งสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย โดยส่วนที่เหลือจากการย่อยและการดูดซึมจะกลายเป็นกากอาหารและถูกขับออกเป็นอุจจาระ โดยลักษณะของอุจจาระและการขับถ่ายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินและสุขภาพของคนๆ นั้น อุจจาระจึงเป็นสิ่งที่บอกถึงภาวะสุขภาพได้อย่างหนึ่ง ดังนั้นการสังเกตรูปร่าง ลักษณะ และสีของอุจจาระอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเหมือนการเช็กปัญหาสุขภาพด้วยตัวเองในเบื้องต้นที่ทำได้ง่ายๆ
การขับถ่ายที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
การขับถ่ายที่ดี คือการที่ร่างกายสามารถขับอุจจาระออกมาได้ทุกวัน โดยเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง และไม่เกิน 3 ครั้ง เวลาขับถ่ายทำได้ง่าย สะดวก และอุจจาระที่ออกมามีลักษณะนิ่มแต่ไม่เหลวเละ ซึ่งตรงข้ามกับผู้ที่มีปัญหา ‘ท้องผูก’ อาจดูจากการถ่ายอุจจาระได้น้อยครั้งกว่าปกติ หรือน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีความผิดปกติในขณะขับถ่าย อย่างเช่น การใช้เวลานาน ต้องใช้น้ำฉีดหรือนิ้วช่วยล้วง รวมถึงรู้สึกขับถ่ายได้ไม่สุด ถ่ายออกมาน้อย อุจจาระมีลักษณะแข็ง เป็นเม็ด ผิวขรุขระหรือแห้งแตก และอึดอัดแน่นท้อง แต่หากมีการขับถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ก็อาจหมายถึงร่างกายมีสภาวะที่ผิดปกติได้เช่นกัน
ลักษณะของอุจจาระ ท้องผูก ท้องเสีย หรือปกติดี เป็นอย่างไร?
ลักษณะอุจจาระสามารถบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้
- อุจจาระเป็นก้อนเล็กๆ แข็ง คล้ายลูกกระสุน หรือขี้กระต่าย แสดงถึงปัญหาท้องผูก เนื่องจากอุจจาระแห้งและเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ยาก อาจมีอุจจาระค้างในลำไส้เป็นเวลานาน เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป รวมถึงดื่มน้ำน้อย ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดเป็นท้องผูกเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- อุจจาระเป็นก้อนเล็กๆ หลายก้อนรวมกัน เป็นอีกลักษณะของโรคท้องผูก แก้ไขได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย และไม่เครียด
- อุจจาระทรงรียาวคล้ายไส้กรอก ผิวขรุขระ และค่อนข้างแข็ง ยังไม่มีปัญหาในการขับถ่าย แต่อาจบ่งชี้ว่าดื่มน้ำน้อยเกินไป
- อุจจาระเป็นลำสวย ผิวเรียบคล้ายกล้วยหอม ไม่แข็งหรืออ่อนนิ่มเกินไป เป็นอุจจาระที่บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดี
- อุจจาระที่แตกเป็นชิ้นสั้นๆ ขับถ่ายได้ง่าย เป็นลักษณะอุจจาระที่ดี แต่ร่างกายอาจกำลังขาดสารอาหาร หรือกากใยบางประเภท
- อุจจาระกึ่งเหลวกึ่งก้อน อาจเป็นอาการเริ่มต้นของท้องเสีย หรือภาวะที่แบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล แก้ไขด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือรับประทานโยเกิร์ตเพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียในระบบย่อยอาหาร
- อุจจาระเหลวเป็นน้ำ เป็นอาการของท้องเสีย หรือเกิดการติดเชื้อในลำไส้ ควรรับประทานเกลือแร่ และจิบน้ำบ่อยๆ แต่หากไม่หายภายใน 1 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
ท้องผูกส่งกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?
ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่สมดุล ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ดังนี้
- ทำให้เกิดความเครียด เบื่ออาหาร ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า
- เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือแผลปริรอบๆ ทวารหนัก เพราะในขณะขับถ่ายอุจจาระที่แห้งแข็งจะครูดกับหลอดเลือดจนฉีกขาด
- ความดันตามอวัยวะต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อย่างทรวงอก ลูกตา และช่องท้อง เนื่องจากต้องออกแรงมากในขณะขับถ่าย
- กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
- หากท้องผูกเรื้อรังจะทำให้ลำไส้อุดตันได้
ดังนั้นเมื่อเกิด ‘ปัญหาท้องผูก’ ควรรีบหาทางแก้ไข หรือหากมีความกังวลใจควรปรึกษาแพทย์ เพราะ หากปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆ หรือท้องผูกต่อเนื่องนานๆ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมาได้
นพ. อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์