โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection) เกิดจากการติดเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก คอ หลอดลม ไปจนถึงปอด ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และซาร์ส ส่วนการติดเชื้อจากแบคทีเรียก็มีบ้าง เช่น ปอดบวม และวัณโรค โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยบางคนอาจเป็นปีละหลายครั้งคือโรคหวัด ซึ่งสามารถหายได้เองด้วยการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นไข้หวัด หรือเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ
และเมื่อได้รับการรักษาหรือกลับบ้านแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมากๆ หากจำเป็นต้องจำกัดปริมาณของเหลวเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อกำหนดปริมาณของเหลวที่ควรดื่ม
- ห้ามสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- จิบน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน อาหารทอด เพื่อไม่ให้กระตุ้นการไอ
- หากไอหรือหายใจไม่สะดวกตอนนอน ให้ยกศีรษะขึ้นด้วยหมอนเสริม จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
- ควรล้างมือสม่ำเสมอ และไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า
- ควรอยู่บ้าน หยุดเรียน หยุดทำงาน และการไปในที่สาธารณะต่างๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายจากไข้แล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยอาการไข้จะต้องหายเองแบบไม่ได้ใช้ยาช่วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการกอด การจูบ และการสัมผัสใกล้ชิด
- เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในอนาคต ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี สนับสนุนให้คนในบ้านได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สุงอายุ เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคในคนกลุ่มเปราะบางนี้
- ปิดปากเมื่อไอหรือจาม ถ้าทำได้ให้ไอหรือจามใส่ข้อศอกโดยไม่ใช่มือ
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้หรือพูดคุยกับผู้อื่น
อาการผิดปกติที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์ซ้ำ
- อาการไข้ตลอดต่อเนื่องเกิน 72 ชั่วโมง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ทานอาหารไม่ได้ หรือทานได้ลดลงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
- มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย
- รู้สึกง่วงนอน ซึมลง วิงเวียน หรือสับสน จากระดับความรู้สึกตัวปกติที่เป็นอยู่เดิม
- มีไข้หรือกลับมาไออีกหลังจากเคยอาการดีขึ้นแล้ว