จากสถิติพบว่า โรค “เบาหวาน” จะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และ 2 ใน 5 ของผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานจะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ทั้งยังพบอีกว่า หญิงตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งมักมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และมีโอกาสเป็น ‘เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์’ ได้มาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อตนเองแล้วยังอาจส่งผลให้ลูกน้อยที่เกิดมา มีโอกาสมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเมื่อมีอายุมากขึ้นได้มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีคุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อีกด้วย
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหน?
ที่ใช้วินิจฉัยภาวะเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
- 50 กรัม GCT (Glucose Challenge Test)
เป็นเกณฑ์ ที่ใช้ในการตรวจคัดกรองที่ทำการตรวจได้โดยไม่ต้องงดอาหาร แต่จะให้รับประทานน้ำตาล 50 กรัม และหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล ถ้าค่าที่ได้มากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ และควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม โดยใช้เกณฑ์ 100 กรัม OGTT
- 100 กรัม OGTT (Oral Glucose Tolerance Test)
การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยเกณฑ์นี้ จะประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
- ทำการเจาะเลือดหลังจากอดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (FBS : Fasting Blood Sugar)
- หลังจากนั้น จะให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม ซึ่งโดยมากจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วย เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่อาจเกิดขึ้นได้
- จากนั้นจะทำการเจาะเลือดในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 หลังรับประทานน้ำตาลไปแล้ว ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลมีความผิดปกติจะให้การรักษาตามเกณฑ์การวินิจฉัย โดยระดับน้ำตาลปกติของการตรวจวินิจฉัยคือ 95,180,155,140 mg/dl หากผลการตรวจสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะวินิจฉัยว่าเป็น ‘เบาหวานขณะตั้งครรภ์’
การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์และการรักษา
การวินิจฉัยและการรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ GDM A1 และ GDM A2 โดย…
- กรณีเป็นแบบ GDM A1 คือมีความผิดปกติของค่า OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) 2 ใน 3 ค่า การรักษาจะทำโดยใช้การควบคุมอาหาร
- กรณีเป็นแบบ GDM A2 นอกจากต้องใช้การควบคุมอาหารแล้ว ยังต้องมีการใช้อินซูลิน (Insulin) ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งกรณีนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบาหวานโดยตรง