รากฟันเทียม หรือรากเทียม คือ วัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันทำจากไททาเนียม ซึ่งมีความปลอดภัยและเข้ากันได้ดีกับร่างกายมนุษย์ ตัวรากฟันเทียมนั้นใช้สำหรับฝังลงไปในกระดูกขากรรไกร เพื่อช่วยในการทำฟันเทียมแบบติดแน่นและแบบถอดได้ ปัจจุบัน การใส่รากฟันเทียม ถือว่าเป็นวิธีการใส่ฟันที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
3 ส่วนประกอบของรากฟันเทียม
- ส่วนรากเทียมที่ฝังลงไปในกระดูก (Implant Body Or Fixture): คือ ส่วนของรากเทียมที่มีลักษณะคล้ายสกรูหรือน๊อตที่ฝังจมลงไปในกระดูกขากรรไกร เพื่อให้มีการยึดติดกับกระดูกขากรรไกร ทำหน้าที่เหมือนรากฟัน
- Implant Abutment: คือส่วนยึดต่อระหว่าง Implant Body และส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ทำจากไททาเนียมหรือเซรามิค ทำหน้าที่แทนตัวฟัน
- ส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ (Prosthetic Component): คือ ส่วนของฟันเทียม เช่น ครอบสะพานฟัน ฟันเทียมถอดได้ที่ยึดกับ Implant Abutment โดยใช้กาวทางทันตกรรมยึด หรือสกรู
ข้อดีของรากฟันเทียม
- ขั้นตอนการทำไม่ต้องกรอฟันข้างเคียง ทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียฟันและกระดูกข้างเคียง เสริมสร้างสุขภาพช่องปากได้ดี
- ได้ฟันใหม่ที่แข็งแรง คงทนและถาวร สามารถบดเคี้ยวได้ดีมีประสิทธิภาพ และให้ความสวยงามที่ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด
- เพิ่มความมั่นใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ไม่มีปัญหากับการพูด การออกเสียง เมื่อเทียบกับฟันเทียมชนิดอื่นๆ
- ช่วยให้การใส่ฟันเทียมแบบถอดมีความรู้สึกที่สบายแต่ได้ความแน่นกระชับยิ่งขึ้น
- เมื่อทำร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้ จะหมดปัญหาฟันเทียมขยับระหว่างพูดคุยหรือในขณะรับประทานอาหาร
ชนิดของรากฟันเทียม
รากฟันเทียมแบ่งได้หลักๆ เป็น 3 ชนิด คือ Conventional implant, Immediate implant และ Immediate Loaded Implant ส่วนจะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับลักษณะกายภาพภายในช่องปาก ความจำเป็นของคนไข้ และประสบการณ์ของทันตแพทย์
Conventional Implant
คือ การฝังรากเทียม ซึ่งแพทย์จะวางแผนการรักษาโดยเริ่มจากทำการตรวจวินิจฉัยสภาพช่องปากและฟัน ทำการพิมพ์ปากและ X-Ray หรืออาจจะต้องทำ CT Scan ในบางตำแหน่งร่วมด้วย จากนั้นจะนัดผู้ป่วยให้เข้ามาทำการผ่าตัดเล็กเพื่อฝังรากเทียมลงไปในกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะต้องรอให้รากเทียมและกระดูกยึกติดกันเต็มที่ โดยใช้เวลาราว 3-4 เดือน ขึ้นอยู่กับลักษณะของกระดูก ก่อนจะทำฟันเทียมยึดกับรากเทียมต่อไป ระยะเวลาในขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของฟันเทียม ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 1-4 สัปดาห์ ในกรณีผู้รับการรักษามีปริมาณของกระดูกน้อยมากในบริเวณที่จะทำการฝังรากเทียมจะต้องมีการปลูกกระดูกก่อน หรือในบางรายอาจปลูกกระดูกไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
Immediate Implant
คือ การฝังรากเทียมทันทีหลังจากถอนฟันธรรมชาติออก ข้อดีคือ ลดขั้นตอนและเวลาการทำลง ลดการละลายของกระดูก ลดโอการการเกิดเหงือกร่น แต่วิธีนี้จะเหมาะกับการทำบริเวณฟันหน้าหรือฟันกรามน้อย และต้องไม่มีพยาธิสภาพที่ปลายรากฟันของฟันที่จะถอน รวมถึงมีปริมาณกระดูกเพียงพอที่จะให้รากฟันเทียมยึดติดได้
Immediate loaded Implant
คือ การต่อส่วนของทันตกรรมประดิษฐ์ เช่น ครอบฟันทั้งแบบชั่วคราวและถาวรไปที่รากฟันเทียมทันทีที่ทำการฝังรากฟันเทียม จึงใช้เวลาการรักษาที่สั้นกว่า แต่ให้ความสวยงามดี เนื่องจากคนไข้จะมีฟันอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้คนไข้บางรายอาจใช้วิธีนี้ไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร
ชนิดของส่วนทันตกรรมประดิษฐ์
ทันตแพทย์สามารถใช้รากฟันเทียมช่วยในการใส่ฟันทดแทนให้คนไข้ได้หลายวิธี เช่น การทดแทนฟัน 1 ซี่
- ในกรณีที่มีฟันหายไปเพียง 1 หรือ 2 ซี่ การใส่ฟันเทียมติดแน่นทำได้ 2 วิธี คือ ทำรากฟันเทียม หรือทำสะพานฟัน แต่รากฟันเทียมนับเป็นวิธีใส่ฟันที่ให้ผลสำเร็จดีที่สุด และมีข้อดีคือไม่ต้องกรอฟันข้างเคียง ทำความสะอาดง่าย ส่วนการทำสะพานฟันจะต้องมีส่วนของครอบฟันติดกันทั้งหมด หากมีซี่ใดซี่หนึ่งมีปัญหาจึงต้องรื้อออกทั้งหมด และการใส่สะพานฟันกับฟันที่ไม่แข็งแรงอาจทำอันตรายต่อฟันหลักยึดได้
- การทดแทนฟันหลายซี่ ในกรณีที่ฟันหายไป 1 ซี่แต่หลายตำแหน่ง สามารถใส่รากฟันเทียมรองรับครอบฟันได้เช่นกัน แต่หากฟันหายไปหลายซี่ติดๆ กัน ทันตแพทย์สามารถทำการฝังรากฟันเทียมเพื่อรองสะพานฟันได้ ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถลดจำนวนรากฟันเทียมลง หรือในบริเวณที่ไม่สามารถฝังรากฟันเทียมเท่ากับจำนวนฟันที่หายไปได้
- ในกรณีที่มีฟันหายไปเป็นจำนวนมาก รากฟันเทียมจะช่วยทำให้ฟันเทียมแบบถอดได้แน่นขึ้น ไม่จำเป็นต้องใส่ตะขอฟันปลอม หรือทำให้ส่วนของเหงือกปลอมสั้นลงได้
- การทดแทนฟันที่หายไปทั้งปาก ในกรณีที่ฟันหายไปทั้งปาก รากฟันเทียมสามารถช่วยทดแทนฟันได้ทั้งแบบติดแน่นและแบบถอดได้ โดยแบบติดแน่น ทันตแพทย์จะทำการฝังรากเทียม 4, 6 หรือ 8 ตัวต่อ 1 ขากรรไกร ส่วนแบบถอดได้จะทำการฝังรากฟันเทียม 2-4 ตัว วิธีการและความยุ่งยากก็จะแตกต่างกันไป
ผู้ที่ควรเข้ารับการทำรากฟันเทียม และผู้ที่ไม่ควรทำ
- ผู้ที่สูญเสียฟันแท้ สามารถรับการรักษาด้วยการใส่รากฟันเทียมได้ทุกคนโดยไม่กำหนดช่วงอายุ แต่ไม่ควรทำในเด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี เนื่องจากกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรคลอดบุตรก่อน จึงค่อยทำรากฟันเทียม
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและขากรรไกร ผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ผู้ป่วยที่เป็นลูคิเมีย ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ควรได้รับการรักษาเพิ่มเติมก่อนทำการฝังรากเทียม
- สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือสูบบุหรี่จัด จะมีผลต่อความสำเร็จในการรักษา
- ผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยที่มีอาการไขข้ออักเสบรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ไม่สามารถดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเองได้ ไม่ควรเข้ารับการทำรากฟันเทียม
อาการอย่างไร? แพทย์จึงพิจารณาให้ทำรากฟันเทียม
ปัจจัยสำคัญ คือ คนไข้ต้องการฟันเทียมที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ต้องการยิ้มและพูดคุยอย่างมั่นใจ ต้องการการบดเคี้ยวที่มีประสิทธิภาพ หรือทดแทนฟันที่เหลืออยู่ซึ่งไม่แข็งแรงซึ่งไม่เหมาะเป็นฟันหลักยึดให้กับฟันเทียมชนิดอื่นๆ แม้แต่ในรายที่ทำฟันปลอมแบบถอดได้แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ รากฟันเทียมมีส่วนช่วยได้อย่างมากในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ปัจจุบันการใส่รากฟันเทียมในกรณีที่ฟันหายไป ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในกรณีที่มีฟันหายไป 1-2 ซี่ รวมถึงรากฟันเทียมยังมีส่วนช่วยให้ฟันเทียมชนิดถอดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกได้ว่ามีส่วนช่วยในการทำฟันเทียมเกือบทุกกรณี
การเตรียมตัวเข้ารับการทำรากฟันเทียม
ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาด้วยรากฟันเทียมจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจและประเมินโดยละเอียดจากทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะอาจแก้ไขได้ยากมาก อีกทั้งทันตแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้และความชำนาญ สามารถเลือกรากเทียมที่เหมาะสมกับคนไข้ มีความเข้าใจเรื่องการบดเคี้ยว และขั้นตอนทางทันตกรรมประดิษฐ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาอยู่ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ และที่สำคัญผู้ป่วยควรดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดีก่อนเข้ารับการรักษา
อายุการใช้งาน และการดูแลรักษารากฟันเทียม
รากฟันเทียม ทำมาจากไททาเนียมซึ่งมีความคงทนมาก อายุการใช้งานจะอยู่ที่การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย รากฟันเทียมไม่ผุแต่จะเกิดโรคเหงือกอักเสบได้หากดูแลไม่ดี การดูแลรักษาก็เหมือนการดูแลรักษาฟันธรรมชาติ คือ การแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หากทำทุกอย่างได้ดีรากฟันเทียมก็จะอยู่ได้ไปตลอด
เราเชี่ยวชาญการดูแลรักษาสุขภาพฟัน
ด้วยทันตแพทย์เฉพาะทางแต่ละด้าน
สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพฟัน บดเคี้ยวไม่ดี ฟันสึกกร่อน สภาพฟันหมดอายุ ควรรีบปรึกษากับทันตแพทย์เฉพาะทางแต่ละด้าน โดยที่ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลพญาไท 1 เรามีความเชี่ยวชาญด้านทันตกรรมทุกแขนง พร้อมดูแลสุขภาพฟันของคุณให้สวยงาม ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยาวนานต่อไป