“ฟันคุด” (Wisdom Teeth) คือ ฟันกรามซี่สุดท้าย (ซี่ที่ 3) ซึ่งปกติจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงอายุ 20 ปีต้นๆ โดยปกติคนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ (ด้านบนซ้าย บนขวา ล่างซ้าย และล่างขวา)
การถอนฟันคุดและผ่าฟันคุดต่างกันอย่างไร?
ฟันคุดอาจทำให้เหงือกและอวัยวะโดยรอบอักเสบหรือติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดฟันคุด กรณีขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอให้ฟันคุดขึ้นได้ตามปกติ หรือฟันคุดขึ้นในตำแหน่งและมุมที่ไปชนกับฟันซี่อื่น ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ฟันคุดยังทำความสะอาดได้ยาก ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าหรือถอนฟันคุดออก ถึงแม้จะไม่มีอาการปวดฟันคุดก็ตาม ซึ่งจะมีความแตกต่าง ความยาก ค่าใช้จ่าย รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก็แตกต่างกัน
ถอนฟันคุด |
ผ่าฟันคุด |
การรักษาฟันคุดในกรณีฟันคุดโผล่ขึ้นมาทั้งซี่เรียบร้อยแล้ว | การรักษาฟันคุดในกรณีที่ฟันคุดซี่นั้นยังอยู่ใต้เหงือก หรือโผล่พ้นเหงือกมาแล้ว แต่ขึ้นไม่หมดทั้งซี่ |
ใช้เวลาน้อยกว่า | มีความซับซ้อน ใช้เวลามากกว่า |
มีค่ารักษาน้อยกว่า | มีค่าใช้จ่ายมาก |
ไม่ต้องเย็บแผล | เย็บปิดบาดแผล และต้องเข้ามาตัดไหมตามทันตแพทย์นัดหมาย |
สาเหตุของการเกิดฟันคุด
เนื่องจากระบบการบดเคี้ยวอาหารได้รับการพัฒนาให้กินอาหารได้ดีขึ้น ขนาดของกระดูกขากรรไกรจึงเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ฟันคุด ซึ่งเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่มีพื้นที่พอที่จะขึ้นได้อย่างปกติ จนเป็นสาเหตุที่เราต้องมาผ่าฟันคุดกันในทุกวันนี้
ลักษณะรูปแบบการขึ้นของฟันคุด
ฟันคุดมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะและมุมของฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้
รูปแบบ |
ลักษณะฟันคุด |
Mesial impaction |
จะมีลักษณะทำมุมเอียง และดันฟันกรามซี่ข้างเคียงจากทางด้านหน้า มีชื่อเรียกอื่นว่า Angular หรือ Mesioangular impaction ลักษณะฟันคุดแบบนี้จะพบได้บ่อยที่สุด และมักขึ้นมาไม่เต็มซี่ |
Distal impaction |
เป็นลักษณะฟันคุดที่พบไม่บ่อย และเรียงตัวในทิศตรงข้ามกับ Mesial ฟันคุดจะเอียงไปด้านหลังที่ไม่มีฟันอยู่ ทำให้หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งและมุมที่ไม่เอียงมาก จะมีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ อาจจะไม่ต้องผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด หรือในบางกรณี ทันตแพทย์อาจจะรอติดตาม 1-2 ปี ก่อนจะตัดสินใจว่าต้องผ่าหรือไม่ |
Vertical impaction |
จะตั้งตรงในมุมปกติ ไม่เอียงไปดันฟันซี่ข้างเคียง ถือเป็นฟันคุดประเภทที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เพราะมีโอกาสสูงที่จะสามารถขึ้นมาได้ตามปกติโดยไม่ต้องผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด |
Horizontal impaction |
ฟันคุดจะเรียงตัวในตำแหน่งแนวนอน ถือเป็นฟันคุดที่เอาออกยากที่สุด ใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัวมากที่สุด ฉะนั้นควรได้รับการรักษาจากทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเท่านั้น |
อาการฟันคุดแบบไหนที่ควรผ่าฟันคุด?
ส่วนใหญ่แล้ว ฟันคุดมักโผล่ขึ้นในวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงต้นของวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานซึ่งคนไข้บางรายอาจจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย หรือบางคนอาจมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น
- ปวดตึง อักเสบ และอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือก เนื่องจากเป็นโรคปริทันต์
- เหงือกบวม บางครั้งอาจบวมไปถึงแก้มหรือกราม ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบหรือติดเชื้อ
- ปวดบริเวณขากรรไกร
- ฟันผุ เนื่องจากการแปรงฟัน และการใช้ไหมขัดฟันยากกว่าปกติ
- การรับรส และลมปากมีกลิ่นผิดปกติ เพราะเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณที่ทำความสะอาดยาก
- อ้าปากลำบาก เจ็บเวลาอ้าปาก กรณีอาการบวมอักเสบลุกลามออกมานอกช่องปาก
หากคุณมีอาการดังกล่าว อาจจำเป็นต้องผ่าฟันคุดโดยเร็วเพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหา โดยสามารถโทรปรึกษาได้ที่ ศูนย์ทันตกรรม รพ.พญาไท 1 โทร. 02-201-4600 ต่อ 3415, 02-245-9627 และ 02-245-9610
มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องผ่าฟันคุด?
คุณไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดทุกซี่ เหตุผลหลักที่ทันตแพทย์จะแนะนำให้คุณต้องผ่าฟันคุด คือฟันคุดซี่นั้นทำความสะอาดได้ยาก มีความเสี่ยงกับการอักเสบและติดเชื้อในภายหลัง ซึ่งการผ่าตัดในช่วงอายุ 18-25 ปี สามารถทำได้ง่าย แผลหายไว ผลแทรกซ้อนน้อย จึงไม่ควรรีรอ รีบผ่าออกแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่เกิดผลเสียภายหลัง แต่ถ้าหากพบว่ามีฟันคุดและแสดงอาการข้างต้น ในช่วงหลังอายุ 26-50 ปี จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์
ข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับการถอนหรือผ่าฟันคุดที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ฟันคุดขึ้นมาแค่บางส่วนไม่เต็มซี่
- ฟันคุดซี่นั้นเคย หรือกำลังก่อให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อ
- ฟันคุดเรียงตัวผิดปกติ
- ฟันคุดไม่มีฟันคู่สบด้านบนหรือล่าง หรือฟันคุดนั้นทำให้การสบฟันผิดปกติ
ทำไมต้องผ่าฟันคุด
- เหงือกอักเสบ บริเวณรอบฟันคุดมีเศษอาหารติดได้ง่าย ทำให้เกิดอาการอักเสบตามมา
- ฟันผุ เมื่อไม่สามารถทำความสะอาดได้สะดวก ฟันคุดจึงมักจะผุได้ง่าย
- เกิดถุงน้ำ Cyst รอบฟันคุด สามารถทำลายเหงือกและกระดูกบริเวณใกล้เคียงได้
ผ่าตัดฟันคุดน่ากลัวและอันตรายหรือไม่?
อันตรายจากการผ่าฟันคุดนั้นอยู่ในระดับต่ำ หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ อยู่ลึกมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ก็จะทำให้การผ่าฟันคุดมีความซับซ้อน ใช้เวลานาน และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้
หากทันตแพทย์แนะนำให้คุณผ่าฟันคุด แสดงว่าทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าเกิดประโยชน์ที่ได้มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดอันตราย และถึงแม้จะเกิดผลข้างเคียงขึ้น ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ และเป็นอยู่เพียงชั่วคราว อันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เลือดออก ภาวะ Dry Socket การอักเสบติดเชื้อ และการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันแพทย์เฉพาะทาง
ถ้าหากผู้รับบริการไม่ต้องการผ่าฟันคุดจะมีผลอย่างไรบ้าง?
- ฟันผุ จากการที่ฟันคุดและฟันกรามซี่ที่ 2 อยู่ชิดกันในลักษณะที่ผิดปกติ ทำให้ทำความสะอาดยาก เศษอาหารติดค้างจึงทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
- กลิ่นปาก เหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และเศษอาหารตกค้างสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ฟันคุดจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คุณมีกลิ่นปาก ซึ่งทำให้คุณเสียบุคลิกภาพ
- เหงือกที่คลุมฟันคุดอักเสบ เพราะฟันคุดที่ขึ้นมาบางส่วนจะมีเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย แต่ทำความสะอาดได้ยาก ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียสะสม ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนองได้ หากทิ้งไว้ การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ส่งผลต่อการหายใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- เกิดเป็นถุงน้ำ (Cyst) ฟันคุดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถุงน้ำ และยังสามารถขยายขนาดจนทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกบริเวณรอบๆ
- กระดูกละลายจากแรงดันของฟันที่พยายามขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบๆ รากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
ผ่าฟันคุดเจ็บมากหรือไม่ กี่วันถึงจะหาย?
ในความเป็นจริงแล้ว คนไข้ส่วนใหญ่บอกว่าการผ่าฟันคุดนั้นไม่เจ็บมากอย่างที่คิด ก่อนผ่าฟันคุดจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยตอนทันตแพทย์ฉีดยาชาให้ หลังจากนั้นจะรู้สึกแค่ตึงๆ นิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งเจ็บน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับความเจ็บปวด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฟันคุดซี่นั้นมีปัญหา
การรักษาผ่าฟันคุดอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ดังนั้นหลังผ่าฟันคุดอาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดย 2-3 วันแรก เหงือกจะบวม ทำให้รู้สึกปวด รับประทานอาหารได้ลำบาก ทันตแพทย์แนะนำให้หยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อรับประทานอาหารได้ดีขึ้น และแผลเริ่มหาย อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น หากทันตแพทย์เย็บแผลเอาไว้ จะต้องไม่ลืมมาตัดไหมตามนัดที่ประมาณ 7-10 วันหลังจากผ่าฟันคุด
ผ่าฟันคุดมีค่ารักษาสูงหรือไม่?
การผ่าฟันคุด ค่ารักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่
- ตำแหน่งของฟันคุด ฟันคุดที่อยู่ลึกในกระดูกขากรรไกร ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ตามปกติ ซึ่งทำให้การผ่าฟันคุดใช้ระยะเวลานาน และมีความซับซ้อนมากกว่า
- การวางตัวของฟันคุด ฟันคุดที่วางตัวกลับหัว หรือพาดอยู่ใกล้เคียงกับฟันกรามซี่อื่นนั้นต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มเติมในการรักษา
- มีผลข้างเคียง ฟันคุดที่มีเหงือกอักเสบมาก หรือมีถุงน้ำ อาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะด้วยยา หรือหัตถการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากขึ้น
- ทันตแพทย์ผู้รักษา ในกรณีที่คนไข้เป็นฟันคุดที่มีความซับซ้อน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าออกได้ยาก และมีการส่งตัวไปให้ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมดูแลต่อ ค่ารักษาอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น
- ศูนย์ทันตกรรมที่เข้ารับการรักษา ซึ่งแต่ละที่จะไม่เท่ากัน การผ่าฟันคุดราคาโรงพยาบาลรัฐจะถูกกว่า แต่ก็จะต้องแลกกับการรอคิวที่นาน ดังนั้นหากคุณมีสิทธิ์ประกันสังคม คุณสามารถใช้สิทธิ์เบิก 900 บ. และชำระส่วนต่างค่ารักษาได้ในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง โดยคนไข้สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลค่ารักษาได้ที่ศูนย์ทันตกรรม รพ.พญาไท 1
การเตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด
- ลางานหรือลาเรียนไว้ล่วงหน้า หลังจากผ่าฟันคุด คนไข้อาจจะยังรู้สึกปวด บวม และในบางครั้งยาชาอาจออกฤทธิ์ได้ถึง 12-24 ชม. ฉะนั้นควรพักผ่อนอย่างน้อย 1-2 วันที่บ้านให้หายดีก่อน
- นั่งรถหรือหาคนรับ-ส่ง หลังผ่าฟันคุด คนไข้อาจจะรู้สึกตึงและต้องการการพักผ่อน คงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากคนไข้ต้องขับรถกลับเอง ทันตแพทย์แนะนำให้มีคนขับรถมารับคนไข้ หรือใช้บริการแท็กซี่จะดีกว่า
- รับประทานยาตามคำแนะนำ ก่อนผ่าฟันคุด คนไข้ควร ‘หยุดยา’ หรือ ‘กินยา’ บางตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด คนไข้จะต้องบอกประวัติการรับประทานยาทั้งหมดให้ทันตแพทย์ทราบ โดยเฉพาะยาที่รบกวนการแข็งตัวของเลือด
- เตรียมอาหารอ่อนๆ ไว้ อาการปวดตึงหลังผ่าฟันคุดมักเป็นอยู่นาน 1-2 วัน และคนไข้อาจรู้สึกไม่อยากออกไปไหน จึงเป็นการดีกว่าถ้าคนไข้จะเตรียมอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้โดยไม่ต้องออกแรงเคี้ยวมาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม พุดดิ้ง ซุป หรือโยเกิร์ต
- คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม ก่อนผ่าฟันคุด
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชม. ก่อนผ่าฟันคุด
- สวมใส่ชุดสบายๆ ไม่รัด ถ้าคนไข้ผมยาว ทันตแพทย์แนะนำให้มัดรวบผมไว้ด้านหลังให้เรียบร้อย
- หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทาลิปสติก
ขั้นตอนผ่าฟันคุดเป็นอย่างไร ใช้เวลานานมากหรือไม่?
ขั้นตอนผ่าฟันคุดแบบเข้าใจง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ได้แก่
- ตรวจวัดความดันโลหิต หากคุณมีโรคประจำตัวหรืออายุมาก ทันตแพทย์จะให้วัดความดันโลหิตก่อนเริ่มผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด ความดันโลหิตที่สูงมากอาจส่งผลให้เลือดออกได้มากผิดปกติและเป็นอันตรายได้ หากตรวจพบทันตแพทย์อาจเลื่อนนัดผ่าฟันคุดของคนไข้ออกไปก่อน จนกว่าจะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น
- ฉีดยาชา ก่อนถอนฟันคุดหรือผ่าฟันคุด ทันตแพทย์จะฉีดยาชาให้กับคนไข้ และตรวจสอบว่ายาชาออกฤทธิ์ได้ดีแล้วก่อนเริ่มขั้นตอนถัดไป ซึ่งหลังจากนี้คนไข้จะแค่รู้สึกตึงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องกังวลใดๆ ทันตแพทย์จะมีการประเมินทุกครั้ง
- เปิดช่องบนเหงือก เพื่อเข้าถึงฟันคุดที่ยังไม่โผล่ขึ้นมา หรือโผล่ขึ้นมาไม่เต็มที่ ทันตแพทย์จะตัดเปิดช่องบนเหงือกเพื่อเข้าถึงฟันคุดซี่ที่ต้องการผ่าออกแบบพิถีพิถัน
- เอาฟันคุดออก ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องกรอกระดูกออกเล็กน้อย และตัดฟันคุดออกเป็นชิ้นที่เล็กลงเพื่อให้เอาออกได้ง่ายและสะดวกขึ้น ในขั้นตอนนี้คนไข้จะรู้สึกตึงเล็กน้อย ระหว่างที่ทันตแพทย์กำลังโยกเพื่อสร้างพื้นที่เพิ่มเติมในการถอนฟันคุดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ล้างแผล และเย็บปิด หลังผ่าฟันคุดถูกนำออกไปหมดแล้ว ทันตแพทย์จะล้างแผล และใช้ไหมเย็บปิดบาดแผล รวมทั้งตรวจประเมินว่าไม่มีเลือดออกแล้ว ก่อนจะให้คำแนะนำเพิ่มเติม พร้อมกับจ่ายยาให้คนไข้กลับไปรับประทาน ซึ่งคนไข้จะมีนัดตัดไหมอีกครั้งในอีก 7-10 วันข้างหน้า
การผ่าฟันคุดโดยปกติใช้เวลาประมาณ 20-45 นาที ขึ้นอยู่กับความยากง่าย อย่างไรก็ตามการผ่าฟันคุดที่ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมงก็พบได้ เพราะแม้ทันตแพทย์จะมีการประเมินจากการตรวจช่องปากและเอกซเรย์แล้วเห็นว่าเป็นเคสที่ไม่ซับซ้อน แต่เมื่อรักษาจริงอาจมีความยุ่งยากที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้
การดูแลรักษาสุขภาพฟันก็เหมือนกับการดูแลสุขภาพร่างกายของเราเช่นกัน ในกรณีที่หากพบว่ามีฟันคุด โดยจะมีอาการแสดงหรือไม่แสดงอาการแต่อย่างใด ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาภายหลัง
สิ่งที่ดีและสำคัญที่สุด คือการที่ได้เข้ามาปรึกษาและรับการรักษาโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการวางแผนการรักษาเฉพาะรายบุคคล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมของคนไข้ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจที่สุด