กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลเปิดเทอมของน้องๆ หนูๆ วัยเรียน ซึ่งนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับลูกๆ สำหรับการขึ้นชั้นเรียนใหม่แล้ว เรื่องการดูแลสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่ตรงกับต้นฤดูฝน และการที่เด็กๆ ต้องอยู่รวมกันเยอะๆ เรียนและทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความรู้จักกับ 5 โรคที่พบบ่อยในช่วงเปิดเทอม จะได้หมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย ที่ดีไปกว่านั้นคือ หากเรารู้ถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ก็จะช่วยให้เกิดการป้องกันและลดความเสี่ยงได้ ซึ่ง 5 โรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก ได้แก่
- โรคมือ เท้า ปาก
- โรคไข้หวัดใหญ่
- โรค RSV
- โรคระบบทางเดินอาหาร
- โรคไข้เลือดออก
โรคมือ เท้า ปาก
พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในช่วงฤดูฝนจะพบมากขึ้น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม “เอนเตอโรไวรัส” (Enterovirus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถหายเองได้ กับสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้
การแพร่เชื้อของไวรัสโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียนที่มีเด็กอนุบาล ชั้นเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก มีระยะฟักตัวนานประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงสามารถแพร่เชื้อได้แม้ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งการแพร่เชื้อส่วนใหญ่จะแพร่ผ่านระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร เช่น
- จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย
- จากการสัมผัสผ่านของเล่นหรือของใช้
- จากการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
อาการของโรคมือเท้าปาก
เมื่อติดเชื้อโรคมือเท้าปากจะทำให้มีอาการดังนี้
- มีอาการไข้
- เจ็บปาก น้ำลายไหล ทานอาหารได้น้อย
- มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้น และอวัยวะเพศ
- อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้
การรักษาโรคมือเท้าปาก
ผู้ป่วยมักมีอาการประมาณ 2-3 วัน และดีขึ้นจนหายได้เองใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากเชื้ออีวี 71 โดยอาจมีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจ และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
โรคไข้หวัดใหญ่
ปกติแล้วเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปบ้าง โดยในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดมาก จากสายพันธุ์ Northern Strain เป็นสายพันธุ์ Southern Strain และในการผลิตวัคซีนได้มีการเปลี่ยนเชื้อไวรัสที่นำมาผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาด ดังนี้
- Strain A/H1N1 : ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม คือไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria (H1N1)
- Strain A/H3N2 : เดิมไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Darwin (H3N2) เปลี่ยนเป็น ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Thailand (H3N2)
- Strain B/Victoria : ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria
- Strain B/Yamagata : ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket
ในประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อจะมีระยะฟักตัว 1-4 วัน โดยทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
อาการไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบมากถึงร้อยละ 48 ของผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยเฉพาะช่วงของการระบาด ซึ่งผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองใน 5-7 วัน แต่อาจพบอาการปอดบวมหรือสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลหรือทำให้เสียชีวิตได้ หากลูกน้อยมีอาการที่รุนแรงขึ้นคุณพ่อคุณแม่ควรรีบพามาพบแพทย์ โดยให้สังเกตอาการร่วมดังต่อไปนี้
- มีไข้สูง 39-40 องศา
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว อ่อนเพลียมาก
- มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอ
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ในผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการปวดท้อง หรือ ท้องเสียร่วมด้วยได้
โรค RSV
RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน มักเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ติดต่อได้ง่ายเพียงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน แม้โรคนี้จะพบบ่อยในเด็กเล็กและทารก ซึ่งมักมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย แต่ในผู้ใหญ่ก็พบโรคนี้ได้เช่นกัน แม้อาการจะไม่รุนแรงเท่า
อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV
- มีน้ำมูก
- เป็นไข้
- ไอ จาม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการของการอักเสบในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างตามมา เช่น หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น มีอาการไอ เสมหะมาก หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก หรือหายใจล้มเหลวได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง
เนื่องจาก โรค RSV เป็นโรคที่เป็นซ้ำได้และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันจึงทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองจึงควรดูแลความสะอาดของบุตรหลานให้ดี หมั่นล้างมือทั้งของตัวเองและลูกน้อย เพราะการล้างมือจะช่วยลดเชื้อโรคที่ติดมากับมือได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเท เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง หากป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่เด็กอื่นๆ
โรคระบบทางเดินอาหาร
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งได้แก่ อาหารเป็นพิษและลำไส้อักเสบ สาเหตุหลักของการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร มักเกิดจากการได้รับเชื้อโรคผ่านการรับประทาน เรื่องของความสะอาดของภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม รวมถึงความสะอาดของอาหารและวิธีการกิน อย่างการหยิบอาหารเข้าปากโดยไม่ล้างมือ ซึ่งง่ายต่อการรับเชื้อ
อาการทั่วไปของโรคระบบทางเดินอาหาร
- มีอาการอาเจียน
- ถ่ายเหลว
- ปวดท้อง
- มีไข้
- ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย
ทั้งนี้ หากรักษาตามอาการประมาณ 1-2 วันแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น เด็กยังมีไข้สูงต่อเนื่อง ซึมลง รับประทานได้น้อยลง หรือไม่อยากอาหาร อาเจียนมาก ถ่ายเหลวต่อเนื่อง มีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ เช่น เด็กจะปากแห้ง ซึม ปัสสาวะลดลงและมีสีเข้มขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เพราะเด็กอาจเกิดภาวะช็อกได้
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกมักมากับหน้าฝนในทุกๆ ปี และยังพบได้ในทุกฤดู พบมากในเด็กอายุ 2-10 ปี มียุงลายซึ่งออกหากินในเวลากลางวันเป็นพาหะ และชอบแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่ง เช่น น้ำในตุ่ม แจกัน จานรองตู้กับข้าว หลุมที่มีน้ำขัง โดยยุงจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งเชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในยุง เมื่อยุงไปกัดคนต่อๆ ไป ก็จะติดเชื้อได้
อาการของโรคไข้เลือดออก
- ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา โดยระยะนี้จะมีอาการ 2-7 วัน
- ระยะช็อก ไข้เริ่มลดลง มีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรงและเข้าสู่ภาวะช็อก ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดก็จะมีอาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ และเข้าสู่ระยะฟื้นตัว
- ระยะฟื้นตัว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว อาการต่างๆ ที่เป็นจะเริ่มหายและฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ
จะเห็นได้ว่า โรคที่มากับหน้าฝน ซึ่งตรงกับช่วงเปิดเทอมใหม่ของเด็กๆ มักติดต่อจากการสัมผัสสิ่งปนเปื้อน การกิน การดื่ม และการถูกยุงกัด ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถบอกสอนลูกน้อยถึงวิธีป้องกันและระวังตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่ยังเล็กมากก็อาจดูแลตัวเองได้ไม่ดีนัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสอบถามและสังเกตอาการของลูกน้อย หากพบความผิดปกติควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค รีบรักษา รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจะดีกว่า