การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น ควรเพิ่มประมาณเดือนละ 1 – 2 กก. (รวมประมาณ 4 – 5 กก.)
- มดลูกโตขึ้น และจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้น ในสัปดาห์ที่ 16 – 22
- ผิวคล้ำตามใบหน้า คอ ลำตัว รักแร้ มีเส้นดำขึ้นเป็นทางยาวกลางท้องตั้งแต่สะดือลงไปถึงหัวหน่าว เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมีหน้าท้องลายอันเกิดจากมดลูกที่โตขึ้นรวดเร็ว ทำให้หน้าท้องต้องยืดขยายมากขึ้น
- ตกขาว หรือมูกในช่องคลอดมากขึ้นกว่าปกติ จากการเพิ่มระดับฮอร์โมนและเลือดที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์
- ระบบย่อยอาหารเปลี่ยนแปลง อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก
- เป็นตะคริว
อะไรบ้างที่ควรทำ
- อาหาร ในระยะนี้อาการแพ้ท้องมักหายไป เริ่มทานอาหารได้ตามปกติ ควรทานให้ครบ 5 หมู่ อาจมีอาหารทุกประเภทใน 1 มื้อ หรือประเภทใดประเภทหนึ่งสลับกับมื้ออื่น แต่เมื่อรวม 5 – 6 มื้อในแต่ละวัน ต้องรับประทานให้ได้ครบทุกประเภทของอาหาร ไม่ควรได้รับอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน มากเกินไป เพราะในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายไม่ต้องการอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลเพิ่ม แต่ต้องการเฉพาะโปรตีนเพิ่มขึ้น
- เน้นผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูง ดื่นน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- ธาตุเหล็ก มีในไข่แดง ตับ ผักใบเขียว ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีมากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ไปสู่ลูก และแคลเซียมซึ่งช่วยในการสร้างกระดูกและฟันของลูก ซึ่งส่วนใหญ่มีในนม
- ออกกำลังกาย เป็นประโยชน์ต่อแม่ตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ท้องไม่ผูก นอนหลับสบาย และควรออกกำลังกายที่ไม่หักโหม หรือใช้ความอดทนมากเกินไป เช่น เดินวันละ 10 – 20 นาที ว่ายน้ำ (แนะนำให้ออกกำลังกายในรายที่เคยออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์)
- ท่านอน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ได้ ท่านอนควรตะแคงซ้าย, ขวา หรือ หงายสลับกัน เพื่อลดจุดกดทับของร่างกาย โดยอาจมีหมอนรองรับขาให้สูงขึ้น เพื่อลดอาการบวมของขาที่เกิดจากกิจกรรมในระหว่างวัน
- การตรวจเต้านม เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้นมในระยะหลังคลอด ลักษณะหัวนมที่แบน หรือบุ๋มลงไป ลานนมแข็งตึงไม่นุ่ม จะทำให้เด็กดูดไม่ได้ การตรวจด้วยตัวเองโดยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทาบไปบนผิวหนังตรงรอยต่อระหว่างฐานของหัวนม กับหัวนม แล้วบีบเข้าหากัน ถ้าหัวนมสั้นหรือบุ๋มมากไปจนเด็กดูดไม่ได้ หัวนมจะยุบลงไประหว่างนิ้วมือทั้งสอง
อาการสำคัญที่ควรมาพบแพทย์
- เลือดออกทางช่องคลอด สาเหตุการมีเลือดออกในระยะนี้อาจเกิดจากภาวะรกเกาะต่ำ
- ปวดท้องเป็นพักๆ อาจเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จากอาการปัสสาวะบ่อย หรือแสบขัด
- อาการตกขาวผิดปกติ เช่น สีเปลี่ยนไป คัน หรือมีกลิ่น