โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) คืออะไร ?
เกิดจากสาเหตุใด รักษาวิธีไหนได้บ้าง ? ปัญหาผมร่วงเป็นหนึ่งในความกังวลด้านสุขภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคผมร่วงเป็นหย่อม” ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย หากใครกำลังเผชิญกับปัญหานี้ การเรียนรู้และทำความรู้จักกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมอย่างละเอียด ตั้งแต่สาเหตุ อาการ ก็จะช่วยให้สามารถรับมือ และวางแผนการรักษาโรคนี้ได้อย่างเหมาะสม
โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร ?
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) คือ โรคผมร่วงที่มองเห็นเป็นหย่อมอย่างชัดเจน อาจมีเพียงหย่อมเดียว หรืออาจมีผมร่วงเป็นกระจุก เป็นการสูญเสียเส้นผมที่เกิดขึ้นได้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยโจมตีรากผมซึ่งเป็นโครงสร้างในผิวหนังที่สร้างเส้นผม ส่งผลให้เกิดการร่วงของเส้นผมในที่สุด
ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และทุกเชื้อชาติ โดยพบผู้ป่วยประมาณ 2% ของประชากรทั่วโลกมีโอกาสเกิดโรคนี้
ลักษณะผมร่วงเป็นหย่อม
ลักษณะเด่นของโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่สังเกตได้ชัดเจน มีดังนี้
- ผมร่วงเป็นวงกลมหรือรูปไข่
- ขนาดของผมร่วงเป็นหย่อมมีตั้งแต่เล็กเท่าเหรียญบาทไปจนถึงใหญ่กว่านั้น
- ผิวหนังบริเวณที่ผมร่วงมักเรียบเนียนและไม่มีอาการอักเสบ
- อาจพบเส้นผมสีขาวในบริเวณขอบของหย่อมผมร่วง
ชนิดของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อมยังสามารถแบ่งชนิดตาม ตำแหน่งและความรุนแรงได้ดังนี้
- Alopecia areata (AA) : ผมร่วงเป็นหย่อม ขนาดต่าง ๆ ที่หนังศีรษะ โดยอาจมีหย่อมขนร่วง บริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วยได้
- Alopecia totalis (AT) : ผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง ทั่วศีรษะ
- Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะและขนที่ อื่น ๆ ทั้งหมด เช่น ขนคิ้ว เครา ขนตา ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ขนที่แขนขา ร่วงทั้งหมด
ความรุนแรงของโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจมีเพียงหย่อมเล็ก ๆ เพียงหย่อมเดียว หรือผมร่วงเป็นกระจุก ในขณะที่บางคนอาจมีหลายหย่อมหรือลุกลามจนผมร่วงทั้งศีรษะ
อาการที่พบได้บ่อยของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
อาการหลักของโรคผมร่วงเป็นหย่อมคือ การสูญเสียเส้นผมเป็นหย่อม ๆ บริเวณที่ได้รับผลกระทบมักจะเป็นวงกลมหรือวงรี อาจปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกายที่มีผมขึ้น
ในบางกรณี ผู้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ผมบาง เส้นผมอาจบางลงก่อนที่จะร่วง
- ผมหักหรือเป็นต่อสั้น ๆ ติดหนังศีรษะ เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขนใหม่เปราะและไม่แข็งแรง
- ความรู้สึกคัน หรือแสบร้อนบริเวณหนังศีรษะก่อนที่ผมจะร่วง
- ผมที่งอกใหม่อาจมีสีขาวหรือสีจางลงในช่วงแรก
- เล็บเปลี่ยนแปลง เช่น เล็บบาง เปราะ หรือมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ
สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ปัจจุบันสาเหตุที่แท้จริงของโรคผมร่วงเป็นหย่อมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการผสมผสานระหว่างพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่อาจเป็นสาเหตุหรือตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ เช่น
- พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
- ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ /ภูมิต่อต้านตนเอง : ร่างกายอาจผลิตแอนติบอดีที่โจมตีรากผมของตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบและผมร่วง อาจพบได้ในบุคคลที่มีโรคภูมิต่อต้านตนเองอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ
- ความเครียด : ภาวะเครียดรุนแรงอาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค
- การติดเชื้อ : บางครั้งการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค
- ฮอร์โมนที่ไม่สมดุล : การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่อการเกิดโรค
- สารพิษในสิ่งแวดล้อม : การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค
เมื่อมีปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม รับมืออย่างไรดี ?
เมื่อพบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจทำให้รู้สึกเครียดและวิตกกังวลมากขึ้น การรู้วิธีรับมือเบื้องต้น จะช่วยให้สามารถลดความรุนแรง และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยควรปฏิบัติดังนี้
- ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง : การพบแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผมและหนังศีรษะเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรค : การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา
- ดูแลสุขภาพทั่วไป : การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวม
- จัดการความเครียด : เนื่องจากความเครียดเป็นตัวการที่กระตุ้นให้สภาพโรคอาจรุนแรงมากขึ้น การเรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ โยคะ หรือการหายใจลึก ๆ เป็นตัวช่วยที่ดี
การรับมือกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ด้วยการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้จัดการโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีรักษาผมร่วงเป็นหย่อม ทำวิธีไหนได้บ้าง ?
การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมจะพิจารณาจากพื้นที่ ของรอยโรค อายุและความรุนแรงของโรค โดยการรักษามี ดังนี้
1. ยาสเตียรอยด์
- การฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) บริเวณที่เกิดปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม เพื่อลดการอักเสบบริเวณหนังศีรษะ มักใช้ในผู้ป่วยที่เห็นหย่อมผมร่วงชัดเจน หลังฉีดจะช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมใหม่ได้ โดยสามารถสังเกตเห็น ภายใน 4 สัปดาห์ และสามารถฉีดซ้ำได้ถ้าจำเป็น โดยฉีดทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ จนกว่าผมจะขึ้น
- การทายากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือในเด็กเล็กที่ไม่สามารถทนต่อการฉีดยาได้
- รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ อาจใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือผมร่วงทั่วศีรษะ
2. ยา Minoxidil (ไมนอกซิดิล) การทายา minoxidil มักใช้เป็นเพียงการรักษาเสริม เท่านั้น ควรใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
3. ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบทา (Contact immunotherapy) ในกรณีที่มีการสูญเสียเส้นผมอย่างรุนแรง อาจแนะนำการบำบัดแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบทา การรักษานี้รวมถึงการทายา Diphenylcyclopropenone (DPCP) บนหนังศีรษะเพื่อกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถกระตุ้นการงอกของเส้นผมได้
4. ยารับประทานกดภูมิ อาจมีการสั่งจ่ายยารับประทาน ยากดภูมิคุ้มกันหรือ JAK inhibitors ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยการกดระบบภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันการสูญเสียเส้นผมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมควรเข้ารับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูผลของรักษา การปรับยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
5. การรักษาด้วยพลาสมา (Platelet-Rich Plasma Therapy) เป็นการใช้เกล็ดเลือดจากเลือดของผู้ป่วยเองฉีดเข้าบริเวณที่ผมร่วง ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม
6. การปลูกถ่ายผม เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีผมร่วงเป็นบริเวณกว้างและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น การปลูกถ่ายผมเป็นการย้ายเส้นผมจากบริเวณที่มีผมหนาแน่นไปยังบริเวณที่ผมร่วง
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นแล้วหายได้หรือไม่ ? เมื่อทำการรักษา กว่า 60% ของผู้ป่วย ผมจะงอกกลับขึ้นมาใหม่เต็มหย่อมได้ ใน 1 ปี แต่อาจกลับเป็นซ้ำได้ 40%ของผู้ป่วยจะกลับเป็นซ้ำในปีแรก และ 30% ของผู้ป่วยจะเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ดังนั้นการติดตามอาการและดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- ลักษณะผมร่วงเป็นหย่อม พบในคนกลุ่มใดบ้าง ? โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง พบบ่อยในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี และพบได้บ่อยขึ้นในผู้ที่มีประวัติครอบครัว, ผู้เป็นโรคไทรอยด์บางชนิด, โรคภูมิแพ้ผิวหนัง, ด่างขาว, โรคแพ้ภูมิตัวเองบางชนิด
- โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถติดต่อได้หรือไม่ ? ไม่ โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตัวเอง
- โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถป้องกันได้หรือไม่ ? เนื่องจากสาเหตุที่แน่ชัดยังไม่เป็นที่ทราบ การป้องกันโดยตรงจึงทำได้ยาก แต่การดูแลสุขภาพโดยรวม ลดความเครียด และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อาจช่วยลดความเสี่ยงได้
- ความเครียดสามารถทำให้เกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้จริงหรือไม่ ? แม้ว่าความเครียดจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของโรค แต่ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการแย่ลงได้ การจัดการความเครียดจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษา
ศูนย์เส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร.02-467-1111 ต่อ 1432