เจ็บเต้านมแบบไหน ถึงเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม

พญาไท 1

1 นาที

พฤ. 26/09/2024

แชร์


Loading...
เจ็บเต้านมแบบไหน ถึงเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม

เจ็บเต้านมแบบไหน ถึงเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม หนึ่งในโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง หากไม่ได้รับการตรวจพบและรักษาในระยะเริ่มต้น เชื้อมะเร็งก็อาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ การเฝ้าระวังและสังเกตความผิดปกติของเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เช่น สังเกตอาการเจ็บบริเวณเต้านม หรือ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาดและรูปร่างของเต้านม เป็นต้น ซึ่งการตรวจเช็กเต้านมและการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดและลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้เป็นอย่างมาก

 

มะเร็งเต้านม เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไรบ้าง

มะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม จนกลายเป็นก้อนเนื้อที่เรียกว่า

“เนื้องอก” ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้งเนื้องอกที่ไม่เป็นอันตรายและเนื้องอกที่เป็นอันตราย ซึ่งหากเป็นเนื้องอกที่อันตรายจะเรียกว่า “มะเร็งเต้านม” ซึ่งความน่ากลัวของเชื้อมะเร็งเต้านมคือการแพร่กระจายผ่านทางระบบน้ำเหลืองและกระแสเลือดไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยอาการของมะเร็งเต้านมในระยะที่สามารถสังเกตได้เอง มีดังต่อไปนี้

  • พบก้อนเนื้อในเต้านมหรือใต้รักแร้ ซึ่งจะมีลักษณะแข็งและนิ่งอยู่กับที่ ไม่สามารถกลิ้งไปมาได้
  • เต้านมหรือหัวนมมีการเปลี่ยนแปลงของขนาด รูปร่าง หรือสีผิว
  • หัวนมยุบตัวลงไปหรือมีลักษณะเป็นหลุม
  • มีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากบริเวณหัวนม
  • มีอาการเจ็บบริเวณเต้านมบ่อย ๆ

 

มะเร็งเต้านม สังเกตได้จากการเจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมเป็นอาการที่ผู้หญิงหลายคนเคยประสบพบเจอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มีความร้ายแรงเพราะอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมมักทำให้ผู้ป่วยหลาย ๆ คนต้องการรู้ว่า อาการเจ็บเต้านมแบบไหนที่ควรเฝ้าระวัง

 

อาการเจ็บเต้านมทั่วไป

อาการเจ็บเต้านมที่พบได้บ่อย ๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงก่อนมีประจำเดือน ระหว่างมีประจำเดือน และหลังมีประจำเดือน ซึ่งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกตึงหรือเจ็บที่เต้านม แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

 

อาการเจ็บเต้านมที่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

อาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมมักไม่ได้เป็นลักษณะเด่นที่พบได้บ่อย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการผิดปกติบางประการที่ควรเฝ้าระวังร่วมกับอาการเจ็บเต้านม ได้แก่

  • พบก้อนเนื้อที่เต้านมหรือรักแร้ เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงอาการเจ็บ : หากผู้ป่วยพบก้อนเนื้อที่ไม่ปกติหรือไม่เคยมีมาก่อนในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะหากสัมผัสก้อนเนื้อนั้นแล้วรู้สึกเจ็บ หรือรู้สึกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • รับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของผิวหนังบริเวณเต้านม : ผู้ป่วยพบการบวมที่ผิดปกติบริเวณเต้านม และรู้สึกถึงผิวหนังของเต้านมที่มีเนื้อสัมผัสเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยย่น มีอาการบวมแดง หรือมีผื่นคัน
  • บริเวณหัวนมมีความผิดปกติ : ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการผิดปกติของหัวนมได้จากการมองด้วยตาเปล่า ได้แก่ หัวนมยุบตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และมีของเหลวไหลออกมาบริเวณหัวนม เช่น น้ำเหลือง หรือเลือด
  • เจ็บเต้านมถี่เกินไป : หากอาการเจ็บเต้านมไม่หายขาดหรือมีอาการเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที

 

 

มะเร็งเต้านม กับเทคนิคการรักษาในรูปแบบใหม่

Oncoplastic Breast Surgery หรือ เทคนิคผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า เป็นวิธีการผ่าตัดที่ผสมผสานระหว่างการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมและการศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรักษารูปทรงของเต้านมได้หลังจากการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่มีเชื้อมะเร็งออกไป ซึ่งการผ่าตัดแบบ Oncoplastic Breast Surgery จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพราะไม่ต้องสูญเสียเต้านมทั้งหมดเหมือนการผ่าตัดแบบทั่วไป เทคนิคนี้จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจกับรูปลักษณ์ของตนเองหลังจากการรักษา

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เทคนิคการผ่าตัด Oncoplastic Breast Surgery ต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอก รวมถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วย ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

 

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการคำปรึกษาทางด้านการตรวจคัดกรองและรักษาโรคมะเร็งเต้านม สามารถเข้าปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ ณ คลินิกรักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1 อาคาร 1 ชั้น 1 โดยทางคลินิกมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวินิจฉัยโรค เช่น เครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบดิจิทัล (Digital Mammogram), เครื่องอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือเครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) รวมไปถึงเทคนิคการรักษาที่ทันสมัยอย่างการผ่าตัดแบบ Oncoplastic Breast Surgery หรือ เทคนิคการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้า โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการประเมินการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อการรักษาคนไข้มากที่สุด


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...