หากเอ่ยถึง “มะเร็ง” ปัจจุบันถือเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นแล้วนั้น โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดนั้นเป็นอาจจะเป็นไปได้ หรืออาจจะไม่มีเลย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย คือ มะเร็งเต้านม แม้ว่า “มะเร็งเต้านม” จะเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ผู้หญิงทุกคนสามารถรู้เท่าทันโรคนี้ได้ โดยหมั่นสังเกตบริเวณเต้านมของตนเองในเบื้องต้น ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หากพบอะไรที่น่าสงสัย…อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
หัวข้อที่น่าสนใจ
- มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- สัญญาณเตือน บ่งชี้ “มะเร็งเต้านม”
- ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
- วิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
- ใครบ้าง? ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
- หมั่นเช็กมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และเข้ารับการตรวจคัดกรอง
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยวิธี “อัลตร้าซาวด์” กับ “แมมโมแกรม” ต่างกันอย่างไร?
- รวมวิธีลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม เกิดขึ้นได้อย่างไร?
นพ.อนิรุทธ์ นิรนาท ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา คลินิกเต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1 อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งในร่างกายคนเราว่า “เป็นกระบวนการที่เกิดจากการที่ “เซลล์” มีการแบ่งตัวผิดปกติ ส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ และแพร่กระจายลุกลามไปตามทางเดินของต่อมน้ำเหลืองในร่างกาย” และถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและชาย แต่มักพบในเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
สัญญาณเตือน และอาการบ่งชี้ “มะเร็งเต้านม”
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เพราะคลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ โดยก้อนเนื้อที่พบอาจจะกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ และแม้เราจะสังเกตหาความผิดปกติของเต้านมด้วยตัวเองได้ก็จริง แต่หากก้อนเนื้อนั้นมีขนาดเล็ก ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลำพบได้เอง ส่วนใหญ่กว่าจะคลำพบก้อนได้ ก้อนเนื้อต้องมีขนาดโตกว่า 1 ซม. และส่วนใหญ่จะคลำพบในช่วงที่เซลล์มะเร็งเติบโตจนเข้าสู่ระยะที่ 2-3 แล้ว การให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจคลำให้ หรือตรวจด้วยเครื่องมือต่างๆ จะได้ผลที่ดีกว่า
- ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนไป แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันบ้าง แต่จุดสังเกตุของโรคมะเร็งเต้านมคือ หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ, มีความเปลี่ยนแปลงที่เต้านม มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงเพียงข้างเดียว รวมถึงมีรูปทรงผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนเห็นความแตกต่างกับอีกข้างหนึ่ง การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมย่อมมีประโยชน์ เพราะหากพบลักษณะที่แปลกไปจากเดิมจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
- ผิวหนังที่เต้านมบุ๋ม หากผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนาเหมือนเปลือกส้ม รวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณหัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม อาจเป็นอาการที่เซลล์มะเร็งลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
- มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวนั้นมีสีคล้ายเลือด ควรรีบพบแพทย์
- อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม ผู้ป่วยบางรายคลำพบก้อนแต่ไม่มีอาการเจ็บ บางรายไม่พบก้อนแต่มีอาการเจ็บ หรือทั้งมีอาการเจ็บและพบก้อนเนื้อร่วมด้วย ใครที่มีอาการแบบนี้อย่าชะล่าใจเด็ดขาด!!! เพราะนี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
- อายุ: การแบ่งเซลล์ของท่อน้ำนมของผู้สูงวัยมักเกิดความผิดปกติได้มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยๆ โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมจึงมากกว่า
- การมี-ไม่มีบุตร: การสร้างน้ำนมของผู้หญิงที่มีบุตรจะทำให้เซลล์เต้านมเจริญเติบโตได้สูงสุด โอกาสการแบ่งตัวผิดปกติจึงมีน้อย ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมจึงน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร
- ยาคุมกำเนิด: การรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานเกิน 5 ปี เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม เพราะการที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติผิดปกติ และมีฮอร์โมนดังกล่าวในอัตราที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้มีความเสี่ยงเนื้อเยื่อเต้านมผิดปกติเพิ่มสูงขึ้นได้
ซึ่งการเป็นมะเร็งเต้านมนั้นเกิดจากการที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติผิดปกติ โดยมีฮอร์โมนดังกล่าวในอัตราที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้มีความเสี่ยงเนื้อเยื่อเต้านมผิดปกติเพิ่มสูงขึ้นได้ จึงพบว่าผู้หญิงที่มีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยใช้ และยังพบว่าในกลุ่มที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่ในวัยรุ่นยังมีความเสี่ยงจากฮอร์โมนมากขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย ยิ่งเริ่มใช้ในช่วงที่มีอายุน้อยมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดความเสี่ยงมากกว่าในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงในกลุ่มคนที่ใช้เม็ดยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปีขึ้นไป มักถูกตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงเป็นข้อห้ามของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้ - พันธุกรรม: หากบุคคลในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็ง ก็อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านม ซึ่งจากบทความ มะเร็งกับพันธุกรรม ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มะเร็งเต้านมถือเป็นโรคมะเร็งที่พบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ โดยยีนที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ Breast cancer susceptibility gene1 (BRCA1) และ Breast cancer susceptibility gene2 (BRCA2) และ P53 สำหรับยีนส์ 2 ชนิดแรก ความถี่ในการเกิดจะอยู่ที่ 1 ใน 1,000 ของประชากร และชนิด P53 ความถี่ในการเกิดจะอยู่ที่ 1 ใน 10,000 ของประชากร โดยปกติแล้ว โอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม สำหรับคนทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 12 (หรือ 120 คนจาก 1,000 คน) แต่สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA 1 หรือยีน BRCA 2 จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 60 (หรือ 600 คน จาก 1,000 คน) ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้ที่มีความผิดปกติทางยีน ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นกว่าคนทั่วไป
วิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ถึงการแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนหมั่นตรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หรือ หากพบเห็นอาการต้องสงสัย อาจเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย แต่มีแนวทางการวินิจฉัยอย่างไรบ้าง มาดูกัน
- ซักประวัติถึงอาการ ประวัติครอบครัว เพื่อหาความผิดปกติของเต้านม ระบบอวัยวะต่างๆ และตรวจสอบว่ามีญาติสายตรงเป็นเคยเป็นมะเร็งหรือไม่ เพื่อประเมินความเสี่ยงร่วม
- ตรวจโดยการคลำเต้านม เริ่มต้นจากด้านบนบริเวณใต้กระดูกให้ปลาร้า ต่อมาที่ด้านในของกระดูกกลางหน้าอก ถัดมาด้านข้างบริเวณแนวกึ่งกลางรักแก้ และด้านล่างของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 6
- ตรวจโดยดิจิตอลแมมโมแกรม เป็นการตรวจโดยการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม ด้วยรังสีปริมาณต่ำ
- การอัลตราซาวด์ ควรทำควบคู่ไปกับการทำดิจิตอลแมมโมแกรม เพื่อหาขนาดสิ่งผิดปกติในกลุ่มโรค ก้อนเนื้งอก, ก้อนซีสต์หรือถุงน้ำ, ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ได้ละเอียดยิ่งขึ้น
- ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติญาติสายตรงเคยเป็นมะเร็งมาก่อน, ตรวจแมมโมแกรมและทำอัลตราซาวด์แล้วพบความผิดปกติ แต่ยังเห็นได้ไม่ชัดเจนและต้องการตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียด
- การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อพบก้อนเต้านมในลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง
ใครบ้าง? ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ดูเหมือนว่าผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงในการเป็น “มะเร็งเต้านม” กันได้ทั้งนั้นและยิ่งเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นจนควรที่จะได้รับการตรวจเต้านม นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่ทำให้ควรตรวจคัดกรองด้วยเช่นกัน …
- ยังไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปี
- คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
- มีรูปร่างอ้วน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
- มีพฤติกรรมชอบดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารไขมันสูง และไม่ชอบออกกำลังกาย
- มีประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
หมั่นเช็กมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และเข้ารับการตรวจคัดกรอง
โรคแทบทุกโรคมักมีอาการหรือสัญญาณเตือน แต่สำหรับมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะไม่มีสัญญาณเตือนให้ระวัง! คุณผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจเช็กเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก
- ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรคลำเต้านมตัวเองเดือนละครั้ง โดยคลำในช่วงหลังหมดประจำเดือน 7 วัน เพื่อดูว่าพบก้อนหรือไม่ และควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ทุกๆ 3 ปี
- ผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ควรตรวจด้วยการทำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ปีละ 1 ครั้ง
- ผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ปีละ 1 ครั้ง หรือ ปีเว้นปี
- ผู้ที่อายุเกิน 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตราซาวด์(Ultrasound) ปีละ 1 ครั้ง
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยวิธี “อัลตร้าซาวด์” กับ “แมมโมแกรม” ต่างกันอย่างไร?
อัลตร้าซาวด์ เหมาะกับผู้หญิงที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี สามารถวินิจฉัยก้อนในเต้านมได้ว่าเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ เนื่องจากช่วงวัยนี้จะมีความเสี่ยงการเกิดซีสต์ในเต้านมสูงกว่ามะเร็งเต้านม แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม
แมมโมแกรม เหมาะกับผู้หญิงช่วงอายุ 35 – 40 ปีขึ้นไป เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแม่นยำ ได้ภาพที่มีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบหินปูนในเต้านม ซึ่งหินปูนบางชนิดพบในมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก และสามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้แม้จะยังคลำไม่พบก้อน
รวมวิธีลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
- ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน เช่น เดินเร็ว, โยคะ หรือการเต้นแอโรบิค ครั้งละ 30 นาที ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ 10-50%
- ลดอาหารไขมันสูง “ผู้หญิงที่มีไขมันสูง” มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม เนื่องจากภาวะอ้วนจะส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการลดปริมาณแคลอรี่จากไขมันให้น้อยกว่า 20-30% ต่อวัน อาจช่วยปกป้องสาวๆ จากโรคมะเร็งเต้านมได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการต้องรับควันบุหรี่มือสอง เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 20 โดยมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่าสารเคมีในควันบุหรี่มือสองมีมากกว่า 20 ชนิด ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมในอนาคตได้
- ไม่ดื่มหนักจนเกินไป ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ดริ้งค์ ต่อสัปดาห์ (โดย 1 ดริ้งค์จะเท่ากับ เบียร์ 12 ออนซ์, ไวน์ 5 ออนซ์ หรือ เหล้าเพียว 1.5 ออนซ์) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบเท่ากับผู้หญิงที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการดื่มในปริมาณที่มากขึ้นทุกๆ 10 กรัม จะทำให้เปอร์เซ็นต์ของโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นถึง 7% อีกด้วย
นอกจากการหมั่นสังเกตเต้านม คลำเต้านมตัวเองเป็นประจำเพื่อหาสิ่งผิดปกติแล้ว ผู้หญิงที่อยู่ในวัย 35 ปีขึ้นไปควรตรวจ “แมมโมแกรม” ทุกๆ ปีหรือปีเว้นปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นการ “ตรวจ…เพื่อรู้ให้ทันโรค” ซึ่งแน่นอนว่า หากพบโรคในระยะแรกๆ จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ “แมมโมแกรม” เป็นวิธีการค้นหา “มะเร็งเต้านม” ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง ผู้หญิงทุกคนจึงควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง