การเกิดบาดเจ็บจากแผล burns สามารถเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุหลายสาเหตุ ทั้งจากความเย็น ความร้อน ของเหลวร้อน ไฟฟ้าซ็อต สารเคมี หรือแม้แต่สารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเมื่ออุบัติเหตุเกิดแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติคือการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนถึงโรงพยาบาลอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ณ จุดเกิดเหตุ จึงจะสามารถลดความรุนแรงและอันตรายที่เกิดกับผู้บาดเจ็บได้
5 กรณีต้องรู้ เพื่อรับมือ
- กรณีไฟไหม้ควรช่วยผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด หากมีไฟไหม้เสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออก
- กรณีถูกของเหลวร้อนลวก แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นมาประคบบริเวณที่ถูกลวก
- กรณีไฟฟ้าซ็อต หรือสัมผัสกับไฟฟ้าแรงสูง ควรตัดแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้าเสียก่อน จากนั้นเริ่มดำเนินการช่วยเหลือ โดยแยกผู้ป่วยออกจากวงจรไฟฟ้า ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นให้รีบทำ CPR และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
- กรณีสัมผัสสารเคมี ควรดูก่อนว่าสารเคมีนั้นเป็นแบบใด แบบแห้งหรือเป็นผง ให้ปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก แต่หากสารเคมีนั้นเป็นน้ำ ให้รับล้างออกด้วยน้ำสะอาดนานๆ
- กรณีสัมผัสรังสี ควรนำผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด โดยที่เข้าไปช่วยเหลือควร สวมชุดเครื่องป้องกัน เมื่อช่วยได้แล้วให้ตัดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก ล้างตัว แล้วรับนำส่งโรงพยาบาล
เมื่อประสบอุบัติเหตุจนกระทั้งได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม จนต้องเข้ารับการรักษา สิ่งสำคัญในการรักษาเพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสูดคือการวินิจฉัย ประเมินความลึกของบาดแผลไหม้ ว่ามีความรุนแรงระดับใด เพื่อการวางแผนการรักษา
การประเมินดีกรีความลึกของบาดแผลไฟไหม้ แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับแรก (First degree burn)
- ระดับที่สอง (Second degree burn)
- ระดับที่สาม (Third degree burn)
- แผลไหม้ระดับแรก (First degree burn) การไหม้จะจำกัดอยู่ที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยบาดแผลจะแดง แต่ไม่มีตุ่มพอง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อน โดยแผลประเภทนี้จะต้องใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 7 วัน โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ กรณีที่พบคือ การไหม้จากแสงแดด เช่นผู้ป่วยไปตากอากาศ ไปชายทะเลมา เกิดภาวะ sun burn การถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือดหรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียดๆ และไม่นาน การรักษาสามารถใช้ครีมยาทาแผลเฉพาะภายนอก หรือ ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลชนิดต่างๆ ที่เหมาะสม
- แผลไหม้ระดับที่สอง (Second degree burn) แบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด
- บาดแผลชนิดตื้น ที่เกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น ทั้งชั้นผิวนอก ชั้นในสุด และหนังแท้ ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ กรณีนี้มักเกิดจากถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟ บาดแผลโดยรวมจะมีลักษณะมี ตุ่มพองใส ถ้าลอกเอาตุ่มพองออก พื้นแผลจะมีสีชมพู ชื้นๆ มีน้ำเหลืองซึม ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบมากเพราะ เส้นประสาทบริเวณผิวหนังยังเหลืออยู่โดยแผลจะหายได้ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อไม่เกิดแผลเป็น การรักษาสามารถใช้ครีมยาทาแผลเฉพาะภายนอก หรือ ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลชนิดต่างๆ ที่เหมาะสม
- บาดแผลระดับลึก จะเกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลชนิดตื้นคือ จะไม่ค่อยมีตุ่มพอง, แผลสีเหลืองขาว, แห้ง และไม่ค่อยปวด บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก หากไม่มีการติดเชื้อซ้ำ โดยแผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อ
- แผลไหม้ระดับที่สาม (Third degree burn) บาดแผลไหม้จะลึกลงไปจนทำลายหนังกำพร้า และหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล อาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก บาดแผลจะมีลักษณะขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ หนาแข็งเหมือนแผ่นหนัง แห้ง และกร้าน อาจเห็นรอยเส้นเลือดอยู่ใต้แผ่นหนานั้น และเนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมดทำให้แผลนี้จะ ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด บาดแผลประเภทนี้จะไม่หายเอง จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผิวหนัง นอกจากนี้จะมีการดึงรั้งของแผลทำให้ข้อยึดติด เมื่อหายแล้วจะเป็นแผลเป็น บางรายจะพบแผลเป็นที่มีลักษณะนูน มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง
การรักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
เมื่อได้รับบาดเจ็บ ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง อาจใช้สบู่อ่อนชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อนและล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นใช้ผ้าสะอาดปิดแผลและไปพบแพทย์ ปัจจุบันการดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn) มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีวัสดุปิดแผลใหม่ๆ ที่ มีคุณภาพดีหลายชนิด การเลือกใช้วัสดุปิดแผลอย่างถูกต้อง และการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ จะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกลงได้มาก และการเกิดแผลเป็นลดลง ดังนั้นหากมีบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว
เรื่องนี้ต้องขยาย
อย่านำสิ่งแปลกปลอมมาใช้กับบาดแผล เช่น ยาสีฟัน ไข่ขาว น้ำมัน มาปิด หรือโปะบนแผล เพราะจะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด ส่งผลต่อการติดเชื้อตามมา