สาร CBD และ THC คืออะไร ในทางการแพทย์มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยอย่างไร ?
ปัจจุบันมีการพูดถึงสาร CBD และ THC กันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยด้วยโรคคุกคามเรื้อรังซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายได้ แต่ยังคงสร้างความเจ็บปวดจากอาการของโรคอย่างต่อเนื่อง สาร CBD คืออะไร? ต่างจาก THC อย่างไร? และช่วยในเรื่องอะไรบ้าง? หาคำตอบได้ในบทความนี้
หัวข้อที่น่าสนใจ
- CBD คืออะไร ?
- สาร CBD ต่างจาก THC อย่างไร ?
- CBD มีประโยชน์ด้านใดบ้าง ?
- CBD ช่วยรักษาโรคอะไรบ้าง ?
- ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้สาร CBD
สาร CBD คืออะไร ?
สาร CBD ย่อมาจากคำว่า Cannabidiol คือสารสกัดประเภทหนึ่งที่ได้จากต้นกัญชา โดยในกัญชามีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) อยู่ 2 ชนิดสำคัญ ได้แก่
- สาร CBD (Cannabidiol)
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol)
ซึ่งในปัจจุบันสารทั้ง 2 ชนิด ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย ลดความวิตกกังวล ลดอาการปวด และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
สาร CBD ต่างจาก THC อย่างไร ?
- Cannabidiol (CBD) : ไม่จัดเป็นยาเสพติด และเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Non-psychoactive) ไม่ทำให้มึนเมาหรือติด สาร CBD จะมีฤทธิ์เพื่อการคลายเครียด ช่วยบรรเทาการอักเสบของแผล ช่วยปกป้องเซลล์ประสาท ต้านชัก ลดความเจ็บปวด ลดอาการคลื่นไส้ ต้านฤทธิ์ต่อจิตประสาท และยังสามารถต่อต้านหรือยับยั้งเซลล์มะเร็ง จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมถึงมีการนำไปใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา และอาหาร
- Tetrahydrocannabinol (THC) : ยังจัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติดประเภทที่ 1 (องค์การอนามัยโลก) มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive) ทำให้เคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย ทำให้ง่วง หลับง่าย ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ลดอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โดย THC จะต้องสั่งโดยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเท่านั้น เพราะเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สารสกัด THC ไม่เกิน 0.2% ไม่เป็นยาเสพติด จึงสามารถใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การทำผลิตภัณฑ์ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ปัจจุบัน โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ จะใช้สาร CBD เป็นหลัก (CBD First) ในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยประคับประคอง (Palliative Care) หรือผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคที่คุกคามต่อชีวิต (life-threatening illness) เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
CBD มีประโยชน์ด้านใดบ้าง ?
เนื่องจากสาร CBD มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ช่วยลดอาการปวด การอักเสบ ลดความกังวล โดยไม่เป็นพิษต่อระบบประสาทและไม่ทำให้เสพติด จึงช่วยบรรเทาอาการของโรคโดยมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย
- ช่วยรักษาโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- บรรเทาอาการนอนไม่หลับ
- ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง
CBD ช่วยรักษาโรคอะไรบ้าง ?
สาร CBD มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพหลายอย่าง แต่จะเน้นไปที่การบรรเทามากกว่าการรักษา จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ใช้ช่วยบรรเทาอาการจากโรค โดยเฉพาะในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่จัดเป็นกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์มากที่สุด
โดยการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีโรคหรือภาวะนำไปสู่การเสียชีวิต (life threatening conditions) เช่น
- โรคมะเร็ง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคถุงลมโป่งพอง
- ภาวะหัวใจวาย
- ภาวะไตวาย
รวมถึงอาการที่เกิดในผู้ป่วยระยะท้ายๆ ที่มีอาการซับซ้อนเนื่องจากร่างกายเสื่อมลง ทำให้การบรรเทาอาการในระยะท้ายด้วยการใช้ยาแผนปัจจุบันหลายตัวพร้อมกันนั้น อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อาการปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ โดยสาร CBD สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ทำให้ผู้ป่วยลดความทรมานลง
ทั้งนี้ การบำบัดรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ด้วยสาร CBD ตัวผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์เพื่อประเมินอาการของโรค จากนั้นจึงวางแผนการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยแพทย์จะพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจึงสั่งให้ใช้สาร CBD ได้
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้สาร CBD
แม้สาร CBD จะมีประโยชน์ในการแพทย์ แต่การใช้ยังต้องทำอย่างระมัดระวัง และควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพราะสาร CBD มีข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้อยู่มาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่ให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้สาร CBD และ THC ทั้งในการรักษาบรรเทาทางการแพทย์ การบริโภค รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของ CBD เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์และผ่านทางการให้นมจากแม่สู่ลูกได้ นอกจากนี้การใช้ CBD ยังมีข้อควรระวังอีกหลายอย่าง เช่น
- การใช้ผลิตภัณฑ์จากสาร CBD อาจทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย
- ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้นอกเหนือจากแพทย์สั่ง
- ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาร่วมกับยากล่อมประสาท หรือยาที่ออกฤทธิ์ทางจิตอื่นๆ
- หากมีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่น ปากบวม ตาบวม หน้าบวม ให้หยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์
- ควรใช้ภายใต้การควบคุมและสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมแล้วเท่านั้น