ครอบฟัน เป็นหนึ่งในวิธีซ่อมแซมฟันที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยวัสดุที่ใช้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ครอบฟันโลหะล้วน (Full Metal Crown) ซึ่งมีความแข็งแรงสูงแต่มีข้อเสียคือ สีที่ไม่เหมือนฟันธรรมชาติ ครอบฟันเซรามิกล้วน (All-Ceramic Crown) ที่ให้ความสวยงามเหมือนสีธรรมชาติของฟัน และ ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-Fused-to-Metal, PFM) มีแกนเป็นโลหะที่แข็งแรง แต่ในระยะยาวอาจเกิดรอยดำบริเวณขอบเหงือกจากการเสื่อมสภาพของวัสดุได้
ข้อแตกต่างของครอบฟันเซรามิก VS ครอบฟันโลหะ
ลักษณะ | ครอบฟันเซรามิก | ครอบฟันโลหะ |
วัสดุ | เซรามิก เช่น พอร์ซเลน, เซอร์โคเนีย | โลหะ เช่น โคบอลต์-โครเมียม ไทเทเนียม โครเมียม-คอปเปอร์ |
ลักษณะภายนอก | สีขาวใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ ดูสวยงาม | สีไม่เหมือนฟันธรรมชาติ มักใช้กับฟันกราม |
ความแข็งแรง | แข็งแรงปานกลาง หากขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ความแข็งแรงจะสูงขึ้น | แข็งแรงสูง |
ความทนทาน | ทนต่อการสึกหรอ แต่เปราะบางหากเกิดการกระแทกหรือร้าว | ทนต่อการบดเคี้ยวและแรงกระแทก |
การดูแลรักษา | ต้องระมัดระวังในการบดเคี้ยว หากแตกหักจะซ่อมแซมยาก | ดูแลรักษาง่าย ทนทานกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการแตกหัก |
ความเหมาะสม | เหมาะกับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม คนไข้ที่แพ้โลหะ หรือกรณีขอบของครอบฟันอยู่ใต้เหงือกลึก | เหมาะสำหรับฟันกรามที่ไม่ต้องการความสวยงาม และฟันที่มีความเสียหายมาก |
ความสะดวกสบายในการใส่ | เข้ากับรูปฟันได้ดี ให้ความรู้สึกเหมือนฟันธรรมชาติ | อาจรู้สึกไม่สะดวกสบาย เพราะบางครั้งอาจไม่กระชับหรือไม่เข้ารูป |
อายุการใช้งาน | 5-15 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา และตำแหน่งที่ติดตั้ง | อาจยาวนานกว่า 15 ปี |
ค่าใช้จ่าย | ราคาสูงกว่า | ราคาถูกกว่า หรือสูงกว่า |
เลือกวัสดุครอบฟันแบบไหนดี?
การเลือกวัสดุครอบฟันอาจพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ความสวยงาม ความทนทาน สภาพฟันหรือปัญหาที่มีอยู่ และควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาทันตแพทย์ ดังนี้
- ครอบฟันเซรามิก เหมาะสำหรับฟันหน้า หรือฟันที่ผู้อื่นมองเห็น เนื่องจากมีสีขาวจึงดูสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ สามารถใช้กับฟันบิ่น หรือแตก ฟันเปลี่ยนสี หรือต้องการให้ฟันสวยขึ้น หรือในกรณีคนที่แพ้ง่าย หรือแพ้โลหะ ฟันผุใต้เหงือกลึกๆ มีข้อจำกัดบ้าง ในกรณีที่ฟันเตี้ยมากๆ หรือในคนที่นอนกัดฟันหนักๆ และไม่ได้ใส่เฝือกสบฟัน
- ครอบฟันโลหะ เหมาะสำหรับฟันกราม หรือฟันที่ผู้อื่นมองไม่เห็น เพราะมีความแข็งแรงสูงและสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้ดี หรือฟันที่มีความเสียหายหรือสึกหรอมาก และผู้ที่ต้องการวัสดุที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่ต้องเปลี่ยนครอบฟันบ่อยๆ
ความแตกต่างระหว่างครอบฟันแบบเดิม กับครอบฟันแบบดิจิทัล
โดยทั่วไป การทำครอบฟันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ครอบฟันแบบเดิม (Traditional Crowns) และครอบฟันแบบดิจิทัล (Digital Crowns) ซึ่งมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพฟัน ความสะดวกสบาย ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการทำโดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีในการสร้างครอบฟันแบบดิจิทัลได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนกับการครอบฟันแบบเดิม ดังนี้
ลักษณะ | ครอบฟันแบบเดิม | ครอบฟันแบบดิจิทัล |
กระบวนการสร้าง | ใช้การพิมพ์ปากด้วยวัสดุที่อ่อนตัว (Impression Material) เพื่อทำแม่พิมพ์ แล้วส่งไปให้ห้องแล็บทำชิ้นครอบฟัน | ใช้เทคโนโลยีสแกนดิจิทัล (3D Scanning) และ CAD/ CAM เพื่อสร้างแบบฟันได้ทันที |
ความแม่นยำ | การพิมพ์วัสดุและกระบวนการผลิตแม่พิมพ์มีความแม่นยำน้อยกว่า | ได้ข้อมูลละเอียดและตรงกับรูปปากมากกว่า จึงให้ความแม่นยำสูงกว่า |
เวลาที่ใช้ | ใช้เวลาหลายวัน เนื่องจากต้องใช้ห้องแล็บในการผลิต | ใช้เวลาน้อยกว่ามาก ในบางกรณีอาจทำเสร็จได้ใน 2-3 ชม. |
ความสะดวก | ต้องทำการพิมพ์ปากหลายครั้ง จึงอาจรู้สึกไม่สะดวก | สแกนปากเพียงครั้งเดียว ไม่มีวัสดุที่ต้องพิมพ์ |
การออกแบบและปรับแก้ | หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น การออกแบบและปรับแก้ที่แล็บอาจต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่กระบวนการพิมพ์ปาก | ออกแบบและปรับแก้ได้ทันทีผ่านโปรแกรมดิจิทัลก่อนส่งผลิต |
ความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูล | ต้องเก็บเป็นแผ่นฟิล์ม | เป็นข้อมูลดิจิทัลที่เก็บและเข้าถึงง่าย |
ความทนทานและอายุการใช้งาน | ขึ้นอยู่กับความแม่นยำในกระบวนการสร้างและวัสดุที่ใช้ | การออกแบบที่แม่นยำช่วยให้มีความทนทานสูงกว่า อายุการใช้งานยาวนานกว่า |
ค่าใช้จ่าย | ราคาถูกกว่า | ราคาเท่ากับการทำแลปปกติ แต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลเพียงครั้งเดียว ได้ชิ้นงานผลิตที่รวดเร็วและแม่นยำ |
ขั้นตอนการทำครอบฟันแบบเดิมโดยทันตแพทย์
โดยทั่วไปขั้นตอนการทำครอบฟันจะต้องพบทันตแพทย์ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพฟัน และชนิดของครอบฟันที่เลือกใช้ ดังนี้
- ครั้งที่ 1 ตรวจวินิจฉัยและเตรียมฟัน เริ่มจากการตรวจสุขภาพฟัน ซึ่งอาจรวมถึงการเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบโครงสร้างฟัน และเนื้อเยื่อโดยรอบ จากนั้นทันตแพทย์จะฉีดยาชา และทำการกรอฟันเพื่อปรับรูปทรงให้เหมาะกับการใส่ครอบฟัน ต่อด้วยการพิมพ์ปากเพื่อสร้างแม่แบบสำหรับการผลิตตัวครอบฟันถาวร โดยต้องติดครอบฟันชั่วคราวไว้ก่อนเพื่อปกป้องฟันที่กรอไว้
- ครั้งที่ 2 ติดครอบฟันถาวร ทันตแพทย์จะถอดครอบฟันชั่วคราวออก และทดลองติดตั้งครอบฟันถาวร ทำการปรับแต่งให้พอดีกับช่องปากทั้งในด้านการสบฟัน และความสวยงาม เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยดีแล้ว จะทำการยึดครอบฟันเข้ากับฟันธรรมชาติอย่างถาวร โดยทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงวิธีการดูแลรักษาครอบฟัน เช่น การแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และการหลีกเลี่ยงอาหารแข็งหรือเหนียวเกินไป เพื่อป้องกันครอบฟันเสียหาย ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- ครั้งที่ 3 ติดตามผล หลังจากติดครอบฟันแล้วต้องกลับมาพบทันตแพทย์ เพื่อติดตามผล
หากคุณกำลังมองหาการรักษาด้านทันตกรรมที่ได้มาตรฐาน โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธินพร้อมให้บริการด้านทันตกรรมแบบครบวงจร รวมถึงการทำครอบฟันโดยทันตแพทย์เฉพาะทางพร้อมเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำและสวยงาม มั่นใจได้ในคุณภาพของวัสดุครอบฟัน รวมถึงเทคนิคการรักษาที่ช่วยให้ครอบฟันมีอายุการใช้งานยาวนาน ลดโอกาสเกิดปัญหาฟันผุซ้ำซ้อน หรือการสึกหรอของครอบฟัน เริ่มต้นดูแลสุขภาพฟันและช่องปากตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตดีๆ ที่คุณเลือกได้
ลงทะเบียน ปรึกษาแพทย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คลิก
ทพ. ธนพล หนูมาน้อย
ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมประดิษฐ์
ศูนย์ทันตกรรมดิจิตอลและรากเทียม
โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน