อาการเจ็บหน้าอกมักจะทำให้หลาย ๆ คนตกใจกลัว บางคนอาจคิดไปไกลว่าเราเป็นโรคหัวใจบ้าง แต่อีกหลายคนก็ปล่อยผ่านอาการเจ็บหน้าอกนี้ คิดว่าไม่เป็นไร คงไม่ใช่อาการของโรคหัวใจหรอก ตัวเองยังหนุ่มยังสาว ยังแข็งแรงดี เจ็บแบบนี้น่าจะเป็นแค่อาการกรดไหลย้อน การปล่อยผ่านไปเช่นนี้ทำให้กว่าจะพบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคหัวใจก็สายเกินไป การรู้ทันอาการเจ็บหน้าอกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เจ็บหน้าอก สัญญาณเตือนของโรคอะไรบ้าง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ใช่แค่คนสูงอายุเท่านั้นที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ในปัจจุบันพบในคนหนุ่มสาวมากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน โรคนี้เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจไม่สะดวก อาการที่พบได้คือเจ็บหน้าอกเหมือนถูกบีบหรือแสบร้อน โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกายหรือเกิดความเครียด
- กล้ามเนื้ออักเสบ หากคุณเพิ่งยกของหนักๆ หรือออกกำลังกายมา อาการเจ็บหน้าอกอาจมาจากกล้ามเนื้ออักเสบได้ อาการนี้มักจะดีขึ้นเมื่อพักผ่อน แต่ถ้าหากเจ็บนานเกินไปก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา
- โรคกรดไหลย้อน กรดไหลย้อนทำให้คุณรู้สึกแสบร้อนในหน้าอก และบางครั้งอาจสับสนกับอาการของโรคหัวใจได้ ดังนั้นหากมีอาการแสบร้อนหลังรับประทานอาหาร ควรสังเกตตัวเองให้ดี หากรับประทานยาแก้กรดไหลย้อนแล้วอาการไม่ทุเลาลงควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
- โรคหอบหืด รู้สึกหายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด อาจเป็นสัญญาณของโรคหอบหืด ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
- โรคปอดอักเสบและปอดบวม การติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวมสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจแล้วเจ็บในอกได้
- ภาวะวิตกกังวลและตื่นตระหนก ความเครียดและความวิตกกังวลสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจสับสนกับอาการของโรคหัวใจได้ การผ่อนคลายและการจัดการความเครียดจึงสำคัญมาก
สัญญาณเตือนโรคหัวใจ
อย่ามองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ เพราะสัญญาณเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ
- เจ็บหน้าอกคล้ายเหมือนมีอะไรมาบีบรัดหรือมากดทับ
- เจ็บหน้าอกร่วมกับเหงื่อออก และตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกร่วมกับเป็นลมหมดสติ
- เจ็บหน้าอกร่วมกับการนอนราบไม่ได้ และรู้สึกเหนื่อยหอบ
- เจ็บหน้าอกแบบรู้สึกร้าวเข้าไปกลางหลัง คอ บริเวณกราม หรือแขนซ้ายด้านใน
วิธีแยกแยะอาการเจ็บหน้าอก
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจ มักรู้สึกเหมือนถูกบีบหรือหนักๆ อยู่กลางหน้าอก แผ่ไปยังแขนซ้าย คอ หรือกราม อาจมาพร้อมกับเหงื่อออก คลื่นไส้ หรือหายใจไม่ออก
- เจ็บหน้าอกจากสาเหตุอื่น อาจเป็นการเจ็บแบบแหลมคม เจ็บเมื่อหายใจเข้าลึกๆ หรือเมื่อขยับตัว มักไม่แผ่ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ทำอย่างไรดีเมื่อเจ็บหน้าอก
- หยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่ แล้วนั่งหรือนอนพัก
- สังเกตอาการ ถ้าอาการเจ็บหน้าอกยังไม่หายไปภายในไม่กี่นาที หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจไม่สะดวก เหงื่อออกมาก ควรรีบขอความช่วยเหลือ
- โทรเรียกรถพยาบาล หากอยู่คนเดียวอย่าขับรถไปโรงพยาบาลเอง ถ้าเป็นไปได้ควรเรียกรถพยาบาลเพื่อได้รับการดูแลทันที
- อย่ามองข้ามอาการเล็กน้อย แม้อาการเจ็บจะไม่รุนแรง แต่ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ไม่ว่าวัยไหนก็เป็นโรคหัวใจได้ อย่าคิดว่าตนเองแข็งแรงดี ตัวเองยังหนุ่มยังสาว โรคหัวใจเป็นแค่โรคที่เกิดในผู้สูงวัย ความชะล่าใจที่เกิดขึ้นอาจทำให้คุณเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว หากมีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่มั่นใจ เข้ามาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและขอคำปรึกษา นอกจากนั้นการออกกำลังกาย การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และขาดไม่ได้กับการตรวจร่างกายกายประจำปี เพื่อให้คุณได้สร้างความมั่นใจได้จากภายใน รถยนต์หรือเครื่องจักรยังมีการตรวจเช็กสภาพในทุก ๆ ปี แต่นี่เป็นร่างกายของคนที่ไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยนเหมือนเครื่องจักร การรักษาร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรงดีและตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ให้บริการแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ พร้อมดูแลคุณด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้คุณได้มั่นใจกับการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวล