ฝึกนิสัยการกินให้ลูกน้อย

พญาไท พหลโยธิน

1 นาที

จ. 19/08/2024

แชร์


Loading...
ฝึกนิสัยการกินให้ลูกน้อย

เวลาที่ลูกน้อยกินได้ก็ทำให้คุณแม่ยิ้มมีความสุข นอกจากนมแม่แล้วช่วงเวลาที่ลูกโตขึ้นแต่ละช่วงวัย ก็เป็นเวลาที่คุณแม่จะได้ฝึกนิสัยการกินที่ดีให้กับลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อสุขภาพที่ดีและช่วยให้เด็กๆ กินอาหารที่เหมาะสม จริงๆ แล้วคุณแม่สามารถฝึกนิสัยการกินให้กับลูกน้อยได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปีเลย เพราะเป็นช่วงวัยที่ค่อนข้างฝึกง่ายที่สุด แต่หากเกินไปแล้วอาจจะต้องอาศัยการพูดคุยด้วยเหตุผล ว่าทำไมคุณแม่ถึงอยากให้กินและไม่อยากให้กินสิ่งนั้น เรามาดูกันสิว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง

 

ฝึกให้เด็กๆ กินอาหารใหม่ๆ โดยไม่ต่อต้าน อย่างเช่น ผัก หรือ ผลไม้ชนิดต่างๆ หรือ เนื้อสัตว์ชิ้นเล็กๆ ที่ลูกไม่คุ้นเคยแต่ดีต่อสุขภาพ และเป็นไปตามช่วงวัย เราแนะนำให้คุณแม่ค่อยๆ ปนไปกับอาหารเดิมที่ลูกกินได้อยู่แล้ว และเติมทีละเล็กละน้อย เขาจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีอะไรแปลกใหม่จนไม่ยอมกิน แต่ถ้าเขาปฏิเสธคุณแม่ก็อย่าเพิ่งท้อ สามารถลองทำแบบเดิมซ้ำๆ ได้ถึง 10 ครั้ง

 

ฝึกกินอาหารให้ตรงเวลา วิธีง่ายๆ คือ พยายามอย่าให้ช่วงเวลาหิวของลูกตรงกับช่วงเวลาที่เด็กๆ ง่วงนอน ช่วงวัยแบเบาะอาจจะต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป สักพักคุณแม่จะรู้เองว่าส่วนใหญ่ลูกจะง่วงนอนช่วงเวลาไหน หรือสามารถตั้งเวลาอาหารให้กับลูกตั้งแต่แรก หลังจากอิ่มแล้วเขาจึงจะมีอาการง่วงนอนตามมา แต่ถ้าให้ผิดเวลาบ่อยๆ และตรงกับช่วงเวลาที่ลูกง่วงนอนล่ะก็ ไม่แปลกใจเลยที่ลูกจะไม่ค่อยยอมกินเท่าไหร่ เพราะร่างกายต้องการพักผ่อนมากกว่า

 

เมื่อเขาโตขึ้น ค่อยๆ ฝึกการใช้ช้อน ใช้แก้วน้ำ แรกๆ เขาจะรู้สึกเหมือนว่า ช้อน แก้วน้ำ จาน ชาม คือของเล่นชิ้นใหม่ และอาจจะทำอาหารเละเทะโดยที่ไม่แตะอาหารมื้อนั้นเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ต้องเตรียมทำใจเผื่อไว้ตั้งแต่แรก แต่เทคนิคคือถ้าคุณแม่อยากฝึกให้เขาคุ้นเคยและสามารถกินอาหารได้เองในอนาคต ให้เตรียมอุปกรณ์การกินเป็น 2 ชุด และชุดที่จะให้เขาลองกินด้วยตัวเองก็ตักอาหารเล็กน้อย น้ำนิดหน่อย ค่อยๆ จับมือสอนให้เขาใช้อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนอีกชุดเอาไว้คอยป้อนอาหารให้ลูก ค่อยๆ ฝึกทุกวันเดี๋ยวเขาก็จะทำได้เอง อย่าลืมปรบมือ ให้คำชมเวลาที่เขาทำได้ด้วยก็พอ

 

เมื่อลูกไม่ยอมกิน คุณแม่ต้องใจแข็ง เด็กๆ หลายคนไม่ยอมกินอาหารเป็นเวลา ถึงเวลากินกลับไม่รู้สึกหิว ทำให้คุณแม่เป็นกังวล เพราะนอกจากตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ แล้ว ยังทำให้ภาวะโภชนาการของลูกไม่ดีด้วย ซึ่งเด็กๆ หลายคนเป็นโรคนี้ (ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติในเรื่องการกินของลูก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยจะดีที่สุด) คุณแม่อาจจะต้องร่วมมือกับทุกคนในครอบครัวเพื่อลูก ตั้งกฎใหม่ว่าถ้าเขาไม่กินในมื้อนี้ จะต้องทนหิวรอไปจนถึงมื้อหน้า แรกๆ เด็กๆ อาจจะยังเฉยๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวถึงเวลาก็อ้อนคุณแม่ได้ คุณแม่ก็ต้องแข็งใจหน่อย เพราะผลที่เกิดกับลูกจะไม่นาน บางครั้งแค่มื้อเดียวลูกก็จะบ่นปวดท้อง หรือรู้สึกได้ถึงความหิวแล้ว หลังจากนั้นเมื่อถึงมื้อถัดไปลูกก็จะกินอาหารโดยไม่อิดออด และคุณแม่ก็ต้องทำให้ลูกรู้ว่า นี่คือผลของความหิวและไม่กินเมื่อถึงเวลา

 

เวลากินข้าว ไม่ควรอย่างอื่นมาดึงความสนใจของลูก บางครั้งคุณแม่อาจจะคิดว่าขอหลอกล่อให้ลูกกินข้าวด้วยการเปิดทีวี ให้เล่นของเล่นควบคู่ไปด้วย แต่จริงๆ แล้วยิ่งทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้เด็กๆ ไปสนใจสิ่งอื่นมากกว่าการกินข้าว วิธีที่ดีที่สุดคือเวลากินก็อยู่กับการกินเท่านั้น หลังจากกินเสร็จแล้วถึงจะไปทำกิจกรรมอื่นต่อได้ เป็นการฝึกนิสัยที่ดีในเรื่องการกินให้กับลูกด้วย

 

ฝึกให้เด็กๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่เด็ก คุณแม่อย่ามัวคิดว่าถ้าเด็กๆ ไม่กินตอนนี้ก็ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวค่อยฝึกตอนที่แกโตขึ้นหรือพูดคุยรู้เรื่องกว่านี้ก็ได้ นั่นเท่ากับได้ฝึกนิสัยการกินอาหารบางอย่างให้กับลูกไปแล้ว ทำให้ลูกไม่ค่อยชอบกินอาหารที่มีประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ใช่ยัดเยียดให้กินแต่ผักที่ลูกไม่ชอบ เพราะนอกจากจะต่อต้านแล้ว ยังทำให้เป็นความฝังใจเวลาโตขึ้น ทำให้ไม่ชอบ หรือเกลียดอาหารชนิดนั้นๆ ไปได้เลย

 

ไม่ควรให้กินขนมก่อนมื้ออาหาร เพราะนอกจากจะทำให้ลูกอิ่มก่อนจะได้กินอาหารมื้อหลักแล้ว ยังทำให้ติดนิสัยต้องกินขนมก่อนกินข้าวด้วย ทำให้กินอาหารที่มีประโยชน์ได้น้อยลง

 

ไม่ตักอาหารในจานมากจนเกินไป เพราะบางทีแค่เด็กเห็นอาหารเยอะๆ พูนจาน ก็ทำให้เกิดอาการไม่อยากกินขึ้นมา ถ้าลูกเป็นเด็กกินน้อย คุณแม่ต้องค่อยๆ ตักอาหารทีละนิด ให้เขารู้สึกว่าที่เขากินไปไม่ได้เยอะอะไรเลย แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นจะดีกว่า

 

ไม่เร่งหรือดุ เวลาที่เด็กๆ งอแงในการกินอาหาร ขอดื่มนมแทนข้าว คุณแม่ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก อย่าไปเร่งรัด หรือดุ เพราะวิธีนี้จะทำให้เด็กๆ ยิ่งต่อต้านมากขึ้น

 

เลี่ยงการกินอาหารซ้ำๆ เด็กๆ ก็เหมือนกับผู้ใหญ่อย่างเรา ที่ต่อให้อาหารนั้นจะมีประโยชน์แค่ไหน แต่ถ้าต้องกินแบบเดิมซ้ำๆ ทุกวันก็ทำให้ลูกเบื่ออาหารได้เช่นกัน และทำให้ไม่อยากกินข้าว ขอให้คุณแม่ลองคิดเมนูใหม่ๆ อาจจะใช้วัตถุดิบเดิมแต่เปลี่ยนวิธีการปรุง หรือตกแต่งให้ดูน่ากิน วิธีนี้ก็จะช่วยให้เขาอยากกินอาหารมากขึ้นด้วย

 

เลี่ยงขนมหวาน น้ำอัดลม ถึงจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ลูกๆ ชอบแค่ไหน แต่เป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์สำหรับลูก แถมยังทำให้อิ่มจนลูกไม่ยอมกินอาหาร ที่สำคัญการให้ลูกกินขนมหวาน หรือน้ำอัดลมเป็นประจำ ยังทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดรสหวานได้อีกด้วย


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...