มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อน ป้องกันได้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อน ป้องกันได้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer) เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ทั่วโลก โดยพบเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักเจริญเติบโตไปเป็นติ่งเนื้อ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือป้องกันอย่างทันท่วงที เซลล์ผิดปกติเหล่านี้อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งระยะลุกลาม และแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

 

  • อายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสูงขึ้นเมื่ออายุเกิน 45 ปี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบในคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น
  • พันธุกรรมและประวัติครอบครัว หากมี พ่อ แม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โอกาสเกิดโรคจะสูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มที่มีภาวะทางพันธุกรรมผิดปกติ เช่น Lynch syndrome หรือ Familial Adenomatous Polyposis (FAP) จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease – IBD) ผู้ที่เป็น โรค Crohn’s disease หรือ Ulcerative colitis จะมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นกว่าปกติ
  • อาหารและการบริโภค การรับประทาน อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะจาก เนื้อแดง และอาหารแปรรูป (เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม) มีข้อมูลว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ รวมถึงอาหารปิ้งย่างหรือไหม้เกรียมซึ่งมีสารกระตุ้นมะเร็งก็พบว่าเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน 
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต การขาดการออกกำลังกายและภาวะน้ำหนักเกินอาจส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ได้

 

อาการและสัญญาณเตือน มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจน ทำให้การตรวจพบระยะเริ่มต้นเป็นเรื่องยาก และเมื่อมีอาการมากขึ้น เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือลำไส้อุดตัน ก็มักพบว่าเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว “การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด” 

 

อาการที่ควรระวัง

 

  • การเปลี่ยนแปลงลักษณะการขับถ่าย เช่น ท้องผูก สลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง หรือลักษณะอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป 
  • การมีเลือดปนในอุจจาระ อุจจาระปนเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำมาก
  • อาการอ่อนเพลียและน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายในบริเวณท้อง
  • อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง
  • ซีด โลหิตจาง

 

การตรวจวินิจฉัยหามะเร็งลำไส้ใหญ่

สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การตรวจสุขภาพเบื้องต้น แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบประวัติสุขภาพและอาการของ ผู้ป่วย จากนั้นอาจสั่งให้ทำการตรวจเลือดและตรวจอุจจาระเพื่อหาความผิดปกติ เช่น การตรวจพบซีด หรือเลือดแอบแฝงในอุจจาระ 
  • การส่องกล้องลำไส้ (Colonoscopy) เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงในการตรวจหามะเร็งหรือติ่งเนื้อ (Polyp) ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งนอกจากการช่วยในการวินิจฉัยแล้วยังสามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาได้ด้วย  
  • การตรวจภาพรังสีด้วย CT scan, CT colonoscopy หรือ MRI เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในการคัดกรองประเมินระยะการแพร่กระจายของโรค (staging) รวมถึงช่วยวางแผนในการรักษา
  • การตรวจ stool DNA test หรือการตรวจ DNA ของเซลล์มะเร็งในเลือด เป็นการตรวจหา DNA ที่เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็งที่หลุดออกมาในปนอุจจาระหรือกระแสเลือด 

 

วิธีการรักษา

 

สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้อง (minimally invasive surgery) โดยมีแนวทางดังนี้

  • การตัดติ่งเนื้อโดยการส่องกล้อง ซึ่งสามารถทำได้โดยการ Polypectomy และ Endoscopic Mucosal Resection โดยหากพบติ่งเนื้อที่มีเซลล์มะเร็งขนาดเล็ก แพทย์จะตัดติ่งเนื้อออกโดยการส่องกล้อง ซึ่งสามารถนำติ่งเนื้อออกได้ทั้งหมด วิธีนี้เหมาะสำหรับรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) เมื่อมีติ่งเนื้อที่ไม่สามารถตัดออกได้ในระหว่างการส่องกล้อง แพทย์จะทำการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่มีมะเร็งออกโดยการเจาะรูขนาดเล็กที่ผนังหน้าท้อง และในขั้นตอนนี้ยังสามารถเก็บตัวอย่างต่อมน้ำเหลืองเพื่อไปตรวจหาการกระจายของมะเร็งได้
  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Colorectal Surgery) เป็นวิธีมาตรฐานในการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกจากร่างกาย
  • เคมีบำบัด (Chemotherapy) ใช้ยาเคมีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งมักใช้ในกรณีที่มะเร็งลุกลามหรือมีโอกาสที่จะกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด
  • รังสีบำบัด (Radiation Therapy) เป็นการใช้รังสีเอ็กซ์หรือโปรตอนเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยในบางกรณีแพทย์อาจใช้รังสีรักษาก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งให้ง่ายต่อการผ่าตัด 
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การรักษาประเภทนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้และกำจัดเซลล์มะเร็งได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งมักผลิตโปรตีนที่ช่วยปิดกั้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน เมื่อมีการตรวจพบเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจะทำหน้าที่แทรกแซงกระบวนการผลิตโปรตีนในเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมามีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับมะเร็งอีกครั้ง แพทย์มักแนะนำวิธีการรักษานี้ในผู้ป่วยที่มะเร็งได้แพร่กระจาย โดยจะมีการประเมินว่าผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือไม่
  • ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) การรักษารูปแบบนี้มุ่งเน้นที่การระงับการเติบโตของเซลล์มะเร็งและการทำลายเซลล์ผิดปกติ โดยแพทย์มักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งเป็นแนวทางที่นิยมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจาย

 

การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

มุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางหลัก ๆ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
  • ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารแปรรูป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หยุดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่อาจพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เหมาะสม หมั่นสังเกตความผิดปกติของอุจจาระ การตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีข้อบ่งชี้ จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย หากท่านมีข้อสงสัย สามารถเข้ามารับคำปรึกษาได้ เพื่อให้ทุกท่านมีสุขภาพลำไส้ที่ดี และปลอดภัยจากมะเร็งลำไส้ใหญ่


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




บทความแนะนำ

7% ของคนทำงานมีอาการของ "โรคลำไส้แปรปรวน"

เครือพญาไท

3 โรคระบบทางเดินอาหารยอดฮิต บั่นทอนชีวิตคนเมือง

พญาไท 2

มาทำความรู้จักกับ “ไวรัสตับอักเสบซี” กัน

พญาไท 2

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้นมักจะเกิดภาวะตับแข็งร่วมด้วยกัน หากเกิดในเพศชายที่ชอบดื่ม รูปร่างอ้วนด้วยแล้วภาวะตับแข็งก็ยิ่งเกิดขึ้นได้เร็วอีก

อดอาหารหลายวัน ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร

พญาไท 2

การอดอาหารบางมื้ออาจไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก แต่กรณีที่มีเหตุทำให้ต้องอดอาหารติดต่อกันหลายวัน ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร และการกลับมาเริ่มทานอาหารหลังอดอาหารมาหลายวันก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังเรื่องอาหารที่กิน