เยื่อบุตาอักเสบ หรือ ตาแดง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี เป็นต้น แต่ที่พบได้บ่อย และติดต่อกันได้ง่ายมากคือ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิดที่พบมากที่สุดคือ อดีโนไวรัส (Adenovirus) รองลงมาคือ เฮอร์ปีสไวรัส (Herpesvirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และคอแซกกี (Coxsackie) โดยการติดต่อทางน้ำตาผ่านการสัมผัสโดยตรงจากมือ หรือเครื่องใช้ และไปสัมผัสตาขออีกคน หรือถูกน้ำสกปรกเข้าตา แต่ไม่ติดต่อทางการมองหรือทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน โรคนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ซึ่งมักเกิดการระบาดในชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กสถานที่ทํางาน สระว่ายน้ำ เป็นต้น สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะระบาดได้ง่ายกว่าเนื่องจากไม่รู้จักวิธีป้องกัน แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้
สังเกตอาการได้อย่างไร ?
อาการของโรคนี้พบหลังจากที่มือ หรือวัตถุที่มีเชื้อโรคมาสัมผัสตาโดยตรง ประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการเยื่อบุตาที่คลุมภายในหนังตา และคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ บวม เคืองตามาก น้ำตาไหล เจ็บตา และมักมีขี้ตามากร่วมด้วย อาจเป็นเมือกใส หรือมีสีเหลืองอ่อน เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม อีกข้างมักจะติดเชื้อด้วยเนื่องจากไม่ได้ระมัดระวัง ทั้งนี้ การติดเชื้อมักมีอาการมากในช่วง 4 -7 วันแรก แต่จะหายได้เองในเวลาประมาณ 7-14 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนการรักษานั้นจะเน้นรักษาตามลักษณะอาการของโรค และจำกัดการแพร่เชื้อจนอาการหายดี เนื่องจากยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง หากผู้ป่วยมีขี้ตามาก แพทย์จะรักษาด้วยการหยอดยาปฏิชีวนะ และถ้ามีไข้ เจ็บคอ รักษาโดยใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้ และยาลดปวด
วิธีป้องกันโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ และน้ำให้สะอาดอยู่เสมอก่อนเอามือสัมผัส หรือขยี้ตา
- ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่เป็นตาแดง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ล้างมือหลังสัมผัสผู้ป่วย
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- ไม่ใช้มือแคะ แกะ เกา หน้าตา
- ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
- อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา
นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดหน้า ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในช่วงที่มีตาแดงระบาด
เมื่อเกิดอาการควรทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ป่วยตาแดง สิ่งสำคัญที่สุดคือควรไปพบแพทย์ หยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน เพื่อไม่ให้โรคตาแดงลุกลาม หรือติดต่อสู่คนอื่น หากใช้กระดาษ หรือสำลีเช็ดขี้ตา เช็ดหน้าแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ควรใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองจากแสง งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ พักผ่อนให้เต็มที่ พักการใช้สายตา และล้างมือให้สะอาดหลังจับบริเวณใบหน้า และตาทุกครั้ง