การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

พญาไท พหลโยธิน

1 นาที

พฤ. 11/01/2024

แชร์


Loading...
การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

“ภาวะสมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุ มักเกิดจากความเสื่อมถอยของเซลล์สมอง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่จะรักษาได้ จะทำได้ก็เพียงการชะลออาการเสื่อมของสมองในช่วงที่ระดับเล็กน้อย และระดับปานกลางเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่เกิดภาวะสมองเสื่อมระดับรุนแรงในอนาคต ซึ่งการรักษาจะเป็นการให้ยารวมถึงวิธีการดูแลอื่นๆ ตามลักษณะอาการของโรคที่เป็นอยู่ เพื่อยืดเวลาให้สมองเสื่อมช้าลงที่สุด ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ หรือเรียกได้ว่าการรักษาสามารถรักษาได้หากมา พบแพทย์ทันท่วงทีและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยสามารถรักษาได้ผลดีและรักษาได้บางส่วน แต่ก็สามารถทำ ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ก่อนการรักษาจะเป็นต้องทราบถึงสาเหตุ

สิ่งสำคัญคือต้องตรวจคัดกรองเสียก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมจริงหรือไม่ เพราะยังมีภาวะสมองเสื่อมเทียม (Pseudo Dementia) ที่อาจเกิดจากโรคซึมเศร้า ตัวผู้ป่วยจะมีอาการวิตกกังวล รวมถึงไม่มีสมาธิที่จะจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีเหมือนคนปกติทั่วไป อาการแสดงเหล่านี้อาจทำให้ผู้คนรอบข้าง เข้าใจว่าเป็นอาการของของภาวะสมองเสื่อม แต่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีอาการแสดงไม่นานก็มักมาพบแพทย์ แต่หากเป็นโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ จะใช้เวลานับเดือนในการที่จะแสดงอาการให้ชัดเจนขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการจากญาติถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

การรักษาภาวะสมองเสื่อม

เมื่อตรวจพบว่าคนไข้มีภาวะสมองเสื่อมจริง แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคต่างๆ ด้วยการตรวจเลือด ตรวจสมองด้วยการทำ CT Scan หรือการตรวจ MRI ตรวจคลื่นสมอง EEG เป็นต้น เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้วจึงเริ่มต้นรักษาที่ต้นเหตุ แต่การรักษาจะได้ผลดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรค โดยการรักษามีทั้งการรักษาแบบไม่ใช้ยา และการรักษาโดยการใช้ยา

 

อย่างไรก็ตามการรักษาสามารถรักษาได้ในกรณีที่ ความจำเสื่อมหรือสมองเสื่อมเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น ขาดวิตามินบีรวม ขาดสารโคลีน หรือผู้ป่วยที่มีการแปรปรวนของระบบการเผาผลาญร่างกาย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหรือทานอาหารเสริม อาการเหล่านี้จะดีขึ้น ในทางกลับกันหากเป็นภาวะสมองเสื่อมจากการเสื่อมสลายของสมอง หรือปัญหาหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่สามารถรักษาได้ อาจจะมียาบางอย่างช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยดำเนินไปช้าลง ได้เท่านั้น

 

รักษาภาวะสมองเสื่อมแบบไม่ใช้ยา

แพทย์จะแนะนําให้ผู้ดูแลและบุคคลในครอบครัวร่วมกันสร้างสัมพันธ์ที่ดี พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้มีอาการ และพร้อมรับมือ แนะนําให้มีการจัดสภาพแวดล้อมภายในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้มีอาการปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา เมื่อครอบครัวมีความเข้าใจมากพอแล้วโอกาสที่ผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้งหรือถูกส่งตัวไปอยู่ในสถานอภิบาลคนชราอย่างโดดเดี่ยวก็จะลดน้อยลง

 

รักษาภาวะสมองเสื่อมโดยการใช้ยา

ปัจจุบันมียาที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้อาการของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ดีขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการทางสมองเพื่อให้ผู้มีอาการสามารถหวนกลับมาดูแลตนเองได้มากที่สุด  แต่ต้องใช้ยาเหล่านี้ตามแพทย์สั่งเท่านั้นเนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงตามมาหลังการใช้ได้ และอาจมีการให้ยาในกลุ่มระงับอาการที่แสดงออกทางอารมณ์  ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลโดยแพทย์ที่จะให้ยาโดยพิจารณาจากลักษณะและความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น

 

เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

  • ผู้ดูแล ญาติ หรือคนรอบข้าง ต้องเข้าใจภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักไม่โกรธ หรือโมโห ถ้าผู้ป่วยทำอะไรไม่เหมาะสม ไม่หัวเราะ หรือขำพฤติกรรมต่างๆ เพราะอาจกระตุ้นอาการได้ ไม่พยายามบังคับให้ผู้ป่วยจำ หรือทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ถ้าผู้ป่วยหงุดหงิด ควรหยุดพฤติกรรมทันที มีความยืดหยุ่น ปรับตัว และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ลดความคาดหวังในตัวผู้ป่วยลง ให้เกียรติในการตัดสินใจบางอย่าง เช่น ขอความเห็น บอกให้ทราบ คอยสอบถามความรู้สึก พูดคุยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ดูแลความเป็นอยู่ และมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปเที่ยว เดินเล่น ร้องเพลง ดูโทรทัศน์
  • จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะดวก ปลอดภัย ป้องกันไม่มีพื้นที่เสี่ยงให้ลื่นล้มได้ เช่น อาจมีราวจับในห้องน้ำ พื้นแห้งไม่เปียกลื่น มีแสงสว่างพอเพียง ระมัดระวังของมีคม ไม่เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดวางสิ่งของบ่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในที่คุ้นเคย ควรมีผู้ดูแลประจำ พูดคุยกับผู้ป่วยบ่อยๆ ด้วยเสียงเรียบๆ พูดซ้ำๆ จัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้เงียบหรือดังเกินไป
  • มองหาความสามารถของท่านที่ยังคงอยู่ เพื่อเสริมไม่ให้เสื่อมลงเร็ว เช่น จัดสวน ทำกับข้าว ประดิษฐ์สิ่งของ ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เลี้ยงสัตว์

 

การดูแลรักษาตามระยะ

  • การดูแลผู้ป่วยในระยะแรก ผู้ป่วยต้องดูแลตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับผู้ดูแลเน้นการให้ความรู้และสนับสนุนผู้ป่วยให้พึ่งพาตนเองเท่าที่จะทำได้ ผู้ดูแลอาจนำผู้ป่วยเข้ากลุ่มประคับประคอง (Support groups) หรือการมีกลุ่มเพื่อนเพื่อให้ผู้ป่วยได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการดูแลตนเองกับผู้อื่น และมีจิตใจ อารมณ์ที่ดี อาจให้มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินและความผ่อนคลายทางใจ ผู้ดูแล และญาติควรวางแผนการดูแลผู้ป่วยระยะยาวในอนาคตเพื่อให้เป็นผลดีต่อการจัดการการดูแลในระยะที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ลดลง
  • การดูแลผู้ป่วยในระยะกลาง ผู้ดูแลควรเน้นให้คงสภาพที่ผู้ป่วยพึ่งพาตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันและสิ่งต่างๆ ให้นานที่สุด ญาติควรจัดให้มีผู้ดูแลที่ผู้ป่วยคุ้นเคย (หากญาติไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้) เพราะผู้ป่วยจะวิตกกังวลจากการพรากจากผู้ดูแลที่คุ้นเคย ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เงียบสงบ ลดสิ่งกระตุ้นหรือลดกิจกรรมที่มากเกินไป ผู้ดูแลอาจต้องขอความรู้ การสนับสนุน และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย และวิธีการป้องกันความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการดูแลผู้ป่วยจากทีมสุขภาพหรือพยาบาล หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ด้วยกัน ควรวางแผนการผลัดเปลี่ยนผู้ดูแลเพื่อลดความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยเป็นเวลานาน
  • ระยะสุดท้าย ญาติ หรือผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญที่จะดูแลผู้ป่วยทั้งหมดในทุกด้าน และทำสิ่งต่างๆ แทนผู้ป่วย เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนอาหาร ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการทางร่างกาย จิตใจ และสังคมเพื่อลดความวิตกกังวล และความกลัวการถูกทอดทิ้งของผู้ป่วย ขอความรู้ การสนับสนุนและคำปรึกษาด้านการดูแลผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนทางกาย โดยดูแลตามปัญหาที่มี เช่น ปอดอักเสบ ขาดสารอาหาร และให้การดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต โดยปฏิบัติต่อผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความเชื่อของผู้ป่วย อยู่เป็นเพื่อนและดูแลความสุขสบายทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...