รากฟันเทียม ตัวช่วยของคนรักฟัน

พญาไท พหลโยธิน

2 นาที

อ. 04/06/2024

แชร์


Loading...
รากฟันเทียม ตัวช่วยของคนรักฟัน

รากฟันเทียมหรือรากเทียม คือ วัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันทำจากไททาเนียมซึ่งเป็นวัสดุที่เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้ดี ใช้สำหรับฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรเพื่อช่วยในการทำฟันเทียมแบบติดแน่นและแบบถอดได้ ปัจจุบันการใส่รากฟันเทียมถือว่าเป็นวิธีการใส่ฟันที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

 

ส่วนประกอบของรากฟันเทียม

  • ส่วนรากเทียมที่ฝังลงไปในกระดูก (Implant body or fixture): คือส่วนของรากเทียมที่มีลักษณะคล้ายสกรูหรือน๊อตที่ฝังจมลงไปในกระดูกขากรรไกรเพื่อให้มีการยึดติดกับกระดูกขากรรไกร ทำหน้าที่เหมือนรากฟัน
  • Implant abutment: ส่วนยึดต่อระหว่าง implant body และ ส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ทำจากไททาเนียมหรือเซรามิค ทำหน้าที่แทนส่วนของตัวฟัน
  • ส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ (Prosthetic component): คือส่วนของฟันเทียมเช่น ครอบฟัน สะพานฟัน ฟันเทียมถอดได้ที่ยึดกับ implant abutment โดยใช้กาวทางทันตกรรมยึดหรือสกรู

 

ข้อดีของรากฟันเทียม

  • เพิ่มความมั่นใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • เป็นฟันเทียมที่ดูเป็นธรรมชาติและใช้งานได้ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด
  • ไม่ต้องกรอแต่งฟันข้างเคียง
  • สามารถบดเคี้ยวได้ดี
  • ไม่มีปัญหากับการออกเสียงเมื่อเทียบกับฟันเทียมชนิดอื่นๆ
  • ช่วยการใส่ฟันเทียมแบบถอดได้ความรู้สึกสบาย มีความแน่นกระชับมากยิ่งขึ้น
  • ป้องกันการสูญเสียฟันและกระดูกข้างเคียง
  • ให้ความสวยงาม เป็นธรรมชาติมากที่สุด
  • เสริมสร้างสุขภาพช่องปาก
  • คงทนและถาวร
  • เมื่อร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้จะหมดปัญหาฟันเทียมขยับระหว่างพูดคุยหรือรับประทานอาหาร

 

ชนิดของรากฟันเทียม

รากฟันเทียมแบ่งได้หลักๆ เป็น 3 ชนิดคือ Conventional Immediate implant และ immediate loaded implant จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับสภาพภายในช่องปาก ความจำเป็นของคนไข้และประสบการณ์ของทันตแพทย์

Conventional Implant

คือ การฝังรากเทียม โดยทั่วไปขั้นตอนคร่าวๆ คือ ขั้นแรกทันตแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย พิมพ์ปาก และ x-ray ในบางตำแหน่งอาจจะต้องทำ CT Scan ร่วมด้วย เพื่อทำการวางแผนการรักษา หลังจากนั้นจะนัดหมายผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัดเล็กฝังรากเทียมลงไปในกระดูกขากรรไกร หลังจากฝังรากเทียมแล้วจะต้องรอให้รากเทียมและกระดูกยึกติดกันเต็มที่ประมาณ 3-4 เดือน ขึ้นอยู่กับลักษณะของกระดูก หลังจากนั้นทันตแพทย์ก็จะทำฟันเทียมยึดกับรากเทียมต่อไป ซึ่งระยะเวลาในขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของฟันเทียม ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 1-4 สัปดาห์

 

ข้อจำกัดในการรักษาจะมีน้อยมากหากวางแผนการรักษาไว้เป็นอย่างดี ข้อจำกัดที่พบมากคือผู้มีปริมาณของกระดูกน้อยมากๆ ในบริเวณที่จะทำการฝังรากเทียม ทำให้จะต้องมีการปลูกกระดูกก่อนหรือในบางรายอาจจะปลูกกระดูกไม่ได้

 

Immediate implant

คือ การฝังรากเทียมทันทีหลังจากทำการถอนฟันธรรมชาติออก ข้อดีของวิธีนี้คือลดขั้นตอนและระยะเวลาการทำงานลง ลดการละลายของกระดูก ลดโอการการเกิดเหงือร่น แต่ตำแหน่งฟันที่เหมาะจะทำด้วยวิธีนี้มักจะเป็นฟันหน้าหรือฟันกรามน้อย ต้องไม่มีพยาธิสภาพที่ปลายรากฟันของฟันที่จะถอน และต้องมีปริมาณกระดูกเพียงพอให้รากฟันเทียมยึดอยู่

 

Immediate loaded implant

คือ การต่อส่วนของทันตกรรมประดิษฐ์ เช่น ครอบฟัน ไม่ว่าจะเป็นแบบชั่วคราวหรือแบบถาวร ไปที่รากฟันเทียมทันทีที่ทำการฝังรากฟันเทียมซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาของการรักษาลงไปได้มาก ให้ความสวยงามเนื่องจากคนไข้จะมีฟันอยู่ตลอดเวลา แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้มีอยู่มาก

 

ชนิดของส่วนทันตกรรมประดิษฐ์

ทันตแพทย์สามารถใช้รากฟันเทียมในการช่วยในการใส่ฟันทดแทนให้คนไข้ได้หลายวิธี เช่นการทดแทนฟัน 1 ซี่

  • ในกรณีที่มีฟันหายไปเพียง 1 หรือ 2 ซี่ การใส่ฟันเทียมติดแน่นทำได้ 2 วิธี คือ รากฟันเทียมและสะพานฟัน แต่รากฟันเทียมถือว่าเป็นวิธีใส่ฟันที่ให้ผลสำเร็จดีที่สุด และมีข้อดีมากกว่าการใส่สะพานฟันคือ ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียง ทำความสะอาดได้ง่ายกว่า และสะพานฟันมีส่วนของครอบฟันติดกันทั้งหมด หากมีซี่ใดซี่หนึ่งมีปัญหาจะต้องรื้อออกทั้งหมด และในฟันที่ไม่แข็งแรง การใส่สะพานฟันอาจทำอันตรายต่อฟันหลักยึดได้
  • การทดแทนฟันหลายซี่ ในกรณีที่ฟันหายไป 1 ซี่แต่หลายๆ ตำแหน่ง ก็สามารถใส่รากฟันเทียมรองรับครอบฟันได้ แต่กรณีที่ฟันหายไปหลายๆ ซี่ติดๆ กัน ทันตแพทย์สามารถทำการฝังรากฟันเทียมเพื่อรองรองสะพานฟันได้ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถลดจำนวนรากฟันเทียมลง หรือในบางบริเวณที่ไม่สามารถฝั่งรากฟันเทียมเท่ากับจำนวนฟันที่หายไปได้
  • ในกรณีที่มีฟันหายไปเป็นจำนวนมาก รากฟันเทียมสามารถช่วยให้ฟันเทียมแบบถอดได้ แน่นขึ้น ไม่จำเป็นต้องใส่สะขอฟันปลอม หรือ ทำให้ส่วนของเหงือปลอมสั้นลงได้
  • การทดแทนฟันที่หายไปทั้งปาก ในกรณีที่ฟันหายไปทั้งปาก รากฟันเทียมสามารถช่วยทดแทนฟันได้ทั้งแบบติดแน่นและแบบถอดได้ แบบติดแน่นทันตแพทย์จะทำการฝั่งรากเทียมจำนวน 4, 6 หรือ 8 ตัวต่อ 1 ขากรรไกร ส่วนแบบถอดได้จะทำการฝังรากฟันเทียมจำนวน 2 – 4 ตัว วิธีการและความยุ่งยากก็จะแตกต่างกันไป

 

เลือกรากฟันเทียมแบบไหนดี

ในท้องตลาดจะพบรากฟันเทียมหลากหลายยี่ห้อ วิธีเลือกว่ารากฟันเทียมแบบไหนหรือยี่ห้อไหนดีนั้น ควรจะประกอบไปด้วย

  • เป็นแบบที่มีการทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
  • อยู่ในตลาดเป็นเวลานาน

 

แต่หากเจอรากฟันเทียมที่มีราคาถูก วิธีที่จะดูว่ารากฟันเทียมแบบนั้นราคาจะคุ้มค่าหรือไม่ ให้ลองหาข้อมูลดู หากคลินิกหรือโรงพยาบาลชั้นนำใช้กันทั่วไปก็ถือว่าน่าเชื่อถือ แต่ถ้าไปเจอยี่ห้อที่ราคาถูกแต่ไม่เห็นมีที่ไหนเค้าใช้กัน ให้ระวัง ยิ่งยี่ห้อแปลกๆ หรือยี่ห้อที่ในเมืองไทยหมอฟันทั่วไปไม่รู้จัก ระวังจะเข้าข่ายซื้อรถนำเข้ายี่ห้อแปลก พอเสียทีก็ไปซ่อมที่ไหนไม่ได้ต้องโดนผูกขาดซ่อมกับคนขายเจ้าเดียว ยิ่งไปกว่านั้นยี่ห้อที่ไม่สามารถทำตลาดในเมืองไทยได้ก็จะขาดทุนหนีกลับประเทศตัวเองไป ในอนาคตหากเกิดปัญหาหรือเมื่อถึงเวลาบำรุงรักษาไปที่ไหนก็ไม่มีคนซ่อมให้หรือหาอะไหล่ไม่ได้ เป็นปัญหาที่แก้ได้ยากมากซึ่งทันตแพทย์จะพบกันอยู่บ่อยๆ

 

ผู้ที่ควรเข้ารับการทำรากฟันเทียมและผู้ที่ไม่ควรทำ

ผู้ที่มีการสูญเสียฟันแท้ไปสามารถรับการรักษาด้วยรากฟันเทียมได้ทุกคน โดยไม่กำหนดช่วงอายุ แต่ไม่ควรทำในเด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี เนื่องจากกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ควรคลอดบุตรก่อน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและขากรรไกร ผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ผู้ป่วยที่เป็นลูคิเมีย ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ ควรได้รับการรักษาเพิ่มเติมก่อนทำการฝังรากเทียม สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือสูบบุหรี่จัดจะมีผลต่อความสำเร็จในการรักษา ส่วนผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยที่มีอาการไขข้ออักเสบรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อไม่สามารถดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเองได้ ไม่ควรเข้ารับการทำรากฟันเทียม

 

อาการอย่างไรแพทย์จึงพิจารณาให้ทำรากฟันเทียม

ปัจจัยสำคัญ คือคนไข้ต้องการฟันเทียมที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ต้องการยิ้มและพูดคุยอย่างมั่นใจ ต้องการการบดเคี้ยวที่ดี หรือทดแทนฟันที่เหลืออยู่ซึ่งไม่แข็งแรงไม่เหมาะเป็นฟันหลักยึดให้กับฟันเทียมชนิดอื่นๆ แม้แต่ในรายที่ทำฟันปลอมแบบถอดได้แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ รากฟันเทียมมีส่วนช่วยได้อย่างมากในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

ปัจจุบันการใส่รากฟันเทียมในกรณีที่ฟันหายไป รากฟันเทียมถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในกรณีที่มีฟันหายไป 1-2 ซี่ รวมถึงรากฟันเทียมก็มีส่วนช่วยให้ฟันเทียมชนิดถอดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกได้ว่ารากฟันเทียมมีส่วนช่วยในการทำฟันเทียมเกือบทุกกรณี

 

การเตรียมตัวเข้ารับการทำรากฟันเทียม

ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาด้วยรากฟันเทียมจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจและประเมินโดยละเอียดจากทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะอาจแก้ไขได้ยากมาก อีกทั้งทันตแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ และความชำนาญสามารถเลือกรากเทียมที่เหมาะสมกับคนไข้ มีความเข้าใจเรื่องการบดเคี้ยว และขั้นตอนทางทันตกรรมประดิษฐ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาอยู่ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ และที่สำคัญผู้ป่วยควรดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดีก่อนเข้ารับการรักษา

 

อายุการใช้งาน และการดูแลรักษารากฟันเทียม

รากฟันเทียมทำมาจากไททาเนียมซึ่งมีความคงทนมาก อายุการใช้งานจะอยู่ที่การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย รากฟันเทียมไม่ผุ แต่เกิดโรคเหงือกอักเสบได้หากดูแลได้ไม่ดี การดูแลรักษาก็เหมือนการดูแลรักษาฟันธรรมชาติ คือการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หากทำทุกอย่างได้ดี รากฟันเทียมก็จะอยู่ได้ไปตลอด


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...