ผู้สูงอายุกับอาการปวดหลัง

พญาไท พหลโยธิน

1 นาที

อ. 09/07/2024

แชร์


Loading...
ผู้สูงอายุกับอาการปวดหลัง

วัยสูงอายุกับอาการปวดหลัง หนึ่งในสาเหตุหลัก คือ การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังมีกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท หรือมีการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังออกจากตำแหน่งเดิม การรักษาเบื้องต้นก็ยังคงเป็นการรับประทานยา ใส่เสื้อรัดเอว ทำกายภาพบำบัดเสียก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นมากขึ้น ก็อาจจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดรักษา ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการปวดหลังได้ก็คือ ปวดจากการร้าวของอวัยวะของช่องท้อง เช่น นิ่วในไต ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งพบไม่บ่อยนัก

 

นอกจากจำนวนอายุที่เพิ่มมากขึ้น ยังส่งผลให้ปริมาณน้ำที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกลดปริมาณลง ทำให้ความยืดหยุ่นและการทำงานของหมอนรองกระดูกไม่ดี ร่วมกับการเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง แถมท้ายด้วยปัจจัยร่วมอย่างน้ำหนักตัวที่มีมาก ขาดการออกกำลังกาย ก็ยิ่งมีผลทำให้อุบัติการณ์ในการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น

 

เมื่อผู้สูงอายุมีอาการปวดหลังสิ่งที่ตามมา คือ

  • อาการนอนไม่หลับเพราะถูกความปวดรบกวน
  • รู้สึกเบื่ออาหาร เพราะอาการทุกข์ใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความซึมเศร้าและทำให้น้ำหนักลดมากเกินไป
  • เกิดภาวะพึ่งพิงสูงเนื่องจากผู้ป่วยบางรายปวดจนไม่ยอมขยับเขยื้อน จึงได้แต่นอนนิ่งๆ ให้ลูกหลานช่วยเหลือทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ เช่นกล้ามเนื้อลีบอ่อนแรงตามมา
  • เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของการรับประทานยาแก้ปวด ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะแก้ปัญหาอาการปวดด้วยการรับประทานยาเป็นหลัก วิธีแก้นี้จัดเป็นวิธีการแก้ไขที่ปลายเหตุ

 

7 วิธีปฏิบัติตัวง่ายๆ สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหลังเรื้อรัง

  1. ระวังและหลีกเลี่ยงการทำงานที่เกี่ยวกับการยกของหนัก งานที่ต้องทำแบบก้มๆ เงยๆ
  2. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่น ที่นอนควรเป็นที่นอนราบเรียบและแน่นเพียงพอที่จะรองรับสรีระของหลังได้ เก้าอี้ควรมีพนักพิงหลังและนั่งตัวตรง เวลาก้มเก็บของควรใช้วิธีย่อเข่าเก็บ
  3. อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลรับประทานแก้ปวดได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในกรณีที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือมีอาการปวดหลังมาก ควรทำกายภาพบำบัด ประคบร้อน-เย็นจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้
  4. การบริหารกล้ามเนื้อหลังจะช่วยลดอาการปวดหลังได้ เพราะจะเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง และการบริหารควรทำทุกวัน
  5. การออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายความเครียด
  6. เลิกสูบบุหรี่
  7. ใส่เครื่องพยุงหลัง (สายรัดเอว) ซึ่งได้ผลในบางคน (แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำเพราะทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแรงลง)

 

ทางเลือกในการรักษา

เป้าหมายของการรักษาอาการปวดหลัง ก็เพื่อลดอาการปวด และให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติที่สุด การรักษาในปัจจุบันสามารถเลือกได้หลากวิธีขึ้นอยู่กับต้นสายปลายเหตุของอาการปวดหลัง รวมถึงระยะเวลาของอาการปวด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะกับการรักษาแบบใด และมีวิธีการอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุดก่อน การรักษาจะมีอยู่ 2 วิธีหลัก คือการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด และการรักษาด้วยการผ่าตัด

 

การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

  • การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ยารับประทาน การทำกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานในกรณีที่อาการไม่รุนแรง
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง วิธีการนี้จะช่วยลดความปวดจากการอักเสบและช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน

 

การรักษาโดยการผ่าตัด

แพทย์จะใช้วิธีการรักษานี้เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือเมื่อทำการรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยหรือข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...