ตับอักเสบ

พญาไท พหลโยธิน

1 นาที

จ. 08/07/2024

แชร์


Loading...
ตับอักเสบ

ภาวะโรคตับอักเสบ หมายถึง ภาวะที่เซลล์ตับมีความผิดปกติ ส่งผลให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับผิดปกติ ทำให้ตับมีแผล มีลักษณะขรุขระ และอาจทำให้เป็นตับแข็ง หรือเป็นมะเร็งตับได้

 

ประเภทของภาวะตับอักเสบ

  • ตับอักเสบเฉียบพลัน อาการที่พบได้บ่อยคือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้องที่ตำแหน่งชายโครงด้านขวาจากการที่ตับโต ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นชนิด A B C และ E และเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น Cytomegalo virus (CMV) Epstein-Barr virus (EBV) Herpes Simplex virus (HSV) เชื้อไวรัสไข้เลือดออก (Dengue) รวมถึงยาบางชนิดที่อาจส่งผลทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาจากแพทย์ทางเลือกต่างๆ อาทิ ยาจีน ยาสมุนไพร เป็นต้น ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น สารเคมีบางชนิด เห็ดที่มีพิษ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดเลือดแบบเฉียบพลัน การติดเชื้อโรคต่างๆ อาจทำให้ตับอักเสบเฉียบพลัน
  • ตับอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีอาการ แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด สามารถเกิดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ การดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารพิษ ความอ้วน หรือมีการอักเสบของตับเป็นเวลานานเกิน 6 เดือนขึ้นไป

 

ลักษณะอาการของโรคตับอักเสบ

มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ปวดท้อง จุกเสียดบริเวณชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ และอาการสำคัญที่บ่งว่าเป็นโรคตับอักเสบคือ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองปัสสาวะมีสีเข้ม ซึ่งเรียกกันว่าดีซ่าน
สำหรับกรณีของไวรัสตับอักเสบ มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และ อี แต่ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังคือ ไวรัสตับอักเสบ บี ซี และ ดี แต่เชื้อไวรัสตับอักเสบดีไม่พบเจอในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี คือ การติดต่อจากคนในครอบครัว แพร่กระจายภายในเครือญาติ โดยสามารถติดต่อกันทางเลือด น้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันพบว่าสาเหตุสำคัญคือ การติดเชื้อทางเข็ม โดยการสักลวดลายบนผิวหนัง และการฉีดยา เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแล้ว จะยังไม่มีอาการปรากฏจนถึงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการตับวาย และเสียชีวิตได้

 

การรักษา และป้องกันโรคตับอักเสบ

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะใช้ยาต้านไวรัสเพื่อขจัดเชื้อ ตรวจติดตามผลการรักษา การตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดปริมาณเชื้อ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันที่ต้นตอของโรคตับ ทำได้ดังนี้

  • การมีอนามัยส่วนบุคคล และส่วนรวมที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาดหลังการขับถ่าย ปรุงอาหารถูกหลักอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่สุก มีประโยชน์ ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษ และดื่มน้ำที่สะอาด
  • หลีกเลี่ยงการรับ สัมผัสเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่สามี ภรรยา
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรคตับอักเสบก่อนได้รับเชื้อ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...