ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมากมาย ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี่ยงหัวใจ ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ชนิดของไขมันในเลือด
- โคเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้ขึ้นเองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารที่มาจากพืชจะไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ จะพบมากในไขมันสัตว์ ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร โคเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันโคเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือด ในอนาคตจะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณโคเลสเตอรอล และมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
คนปกติจะต้องมีค่าโคเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 170 มก./ดล. ไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ทำหน้าที่จับโคเลสเตอรอลจากเซลล์ของร่างกายและนำไปกำจัดทิ้งที่ตับ ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. ส่วนไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรน้อยกว่า 130 มก./ดล.
โคเลสเตอรอลรวมแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ High-Density Lipoprotein (HDL) เป็นไขมันชนิดดี มีความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่จับไขมันโคเลสเตอรอลออกไปทำลายที่ตับ การมีไขมัน HDL สูงจะทำให้โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดลดลง ซึ่งการทำให้ HDL สูงนั้น ต้องออกกำลังกายเท่านั้น Low-Density Lipoprotein (LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดีที่มาจากไขมันสัตว์ ถ้าไขมันชนิดนี้สูงจะไปเกาะผนังหลอดเลือดทำให้ตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้ง หรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และ เค ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าไขมันในเลือดสูงในคนที่มีโคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)
สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง
- กรรมพันธุ์
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
- โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางอย่าง
- โรคตับ โรคไตบางชนิด
- ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ฮอร์โมนเพศ (ยาคุมกำเนิด) เป็นต้น
- การตั้งครรภ์
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะขาดการออกกำลังกาย
ผลข้างเคียงของโรคไขมันในเลือดสูง
ภาวะที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูงถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จากการที่ไขมันในเลือดสูงไปทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัวซึ่งเรียกว่า Atherosclerosis (โรคหลอดเลือดแดงแข็ง)
ผู้ที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด
ควรตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ถ้าปกติและไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ และอายุยังไม่เกิน 45 ปี (ผู้ชาย) หรือ 55 ปี (สำหรับผู้หญิง) ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุยังไม่มาก (ผู้ชายไม่เกิน 55 ปี และผู้หญิงไม่เกิน 65 ปี) และยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ควรตรวจซ้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วและตรวจไขมันในเลือดว่าปกติก็ตรวจซ้ำในอีก 1-3 ปี
ข้อควรปฏิบัติเมื่อไขมันในเลือดสูง
- ควบคุมอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ สมองสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง หนังเป็ด หนังไก่ มะพร้าว อาหารที่มีกะทิ หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย ควรระวังอาหารพวกแป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ผลไม้รสหวานจัด
- รับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์สะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เจียว ควรใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งมีกรดไลโนเลอิกเป็นตัวนำ โคเลสเตอรอลไปเผาผลาญซึ่งจะช่วยในการดูดซึมไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
- ควรเพิ่มอาหารประเภทผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น เพื่อช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
- การออกกำลังกาย จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดและเพิ่มระดับของ HDL ควรทำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที การออกกำลังกายที่ดี เช่น การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน
- งดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ HDL ในเลือดต่ำลง และบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
- ปรึกษาแพทย์ ติดตามผล การปฏิบัติตัวบางระยะอาจต้องใช้ยาช่วยปรับระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำและติดตามผลการรักษาต่อไป