เมื่อเข้าสู่วัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และอาจเกิดอาการต่างๆ จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง กระทั่งรบกวนวิถีชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในวัยทองอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
- การมาของประจำเดือนเปลี่ยนไป ลักษณะของประจำเดือนในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทองจะแตกต่างกันออกไป บางรายประจำเดือนอาจขาดและหายไปเลย ในขณะที่บางรายจะค่อยๆ น้อย และหมดลงถือว่าปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเลือดออกนานขึ้น (เกิน 7 วัน) หรือออกกระปริดกระปรอยผิดปกติ ต้องตรวจหาสาเหตุให้ละเอียดและต้องคำนึงถึงโรคมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่สตรีวัยทอง บางรายมักเข้าใจผิดว่าอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของสตรีในวัยนี้ จึงปล่อยปละละเลยไม่ได้ทำการตรวจให้ละเอียด หรือไปรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรบางชนิดเพื่อขับถ่ายหรือกำจัดของเสียในร่างกาย จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือปวดท้องบริเวณท้องน้อย และเมื่อมาพบแพทย์อาการก็ลุกลามไปมากแล้ว
- ร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ มักเป็นความรู้สึกที่แผ่จากบริเวณหน้าอกขึ้นไปที่ลำคอและใบหน้า มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก และตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหากเกิดในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับ
- หงุดหงิดง่าย การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่ออารมณ์และจิตใจ อาจทำให้มีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า และซึมเศร้า
- ช่องคลอดแห้ง ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ในสตรีอาการที่พบคือ ช่องคลอดแห้ง การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย
- กระดูกพรุนเปราะง่าย โดยปกติร่างกายจะมีการสร้างกระดูกใหม่และสลายกระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา โดยในวัยเด็กและวัยรุ่นการสร้างกระดูกจะเกิดขึ้นมากกว่าสลายกระดูก จากการศึกษาในประเทศไทยพบความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูกของสตรีไทยจะสูงสุดที่อายุ 30-34 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.3-0.5 ต่อปี หลังอายุ 35 ปี เนื่องจากการสลายกระดูกในลักษณะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนเกิดกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ หากไม่มีการป้องกันใดๆ อาจทำให้กระดูกหักได้แม้เพียงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย สตรีที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป จะไม่แสดงอาการใดๆ จะปรากฏเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นภัยเงียบของสตรีวัยทอง
- อาจมีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผลต่อไขมันและระบบหลอดเลือด การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลทำให้ระดับไขมัน Cholesterol และไขมันเลว LDL เพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมัน HDL จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
- หลงลืมง่าย เมื่อเข้าสู่วัยทองอาจมีอาการหลงลืมง่าย ความสามารถในการจำชื่อคน หรือข้อมูลสำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์ () เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังอายุ 65 ปี และพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นมากในคนที่ไม่ค่อยใช้สมองคิดบ่อยๆ สตรีวัยทองไม่ควรปล่อยสมองให้อยู่นิ่ง ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อยๆ เช่นการคิดเลข ต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น
- ภาวะนอนไม่หลับ บางรายอาจรู้สึกนอนไม่หลับเลยจนสว่าง หรือบางรายอาจนอนหลับๆ ตื่นๆ หลายรอบในแต่ละคืน ซึ่งอาการทั้งหมดจะให้ทำสมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมากและส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้
ฮอร์โมนทดแทนคืออะไร?
ฮอร์โมนทดแทน คือการรักษาวัยทองโดยใช้ยากลุ่มฮอร์โมน โดยในสุภาพสตรีจะใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ชนิดสกัดจากธรรมชาติ (Bio-identical Hormone) ที่มีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย ซึ่งอาจให้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ชนิดที่ได้มาจากธรรมชาติในรูปแบบยารับประทาน นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ การให้ทางผิวหนัง เจล แผ่นแปะ การสอดทางช่องคลอด หรือการพ่นเข้าจมูก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับตับ ระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ปวดศีรษะแบบไมเกรน
ในกรณีของของให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ชายก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในรูปแบบยารับประทาน ชนิดยาฉีด เพื่อให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น สบายกาย สบายใจ และให้ผลพลอยได้ในด้านปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งนี้ ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นมีหลายสาเหตุ ไม่ได้มาจากการลดลงของฮอร์โมนเพศอย่างเดียว
ประโยชน์ของการใช้ฮอร์โมนทดแทน
สุภาพสตรี: สามารถช่วยรักษาอาการในวัยหมดระดู โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการทางอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอดแห้ง เยื้อบุของชองคลอดบางลง ขาดความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นจนเกิดอาการอักเสบ
สุภาพบุรุษ: สามารถช่วยลดปัญหาอ่อนเพลียไม่มีแรง ความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง
นอกจากนี้ยังช่วยลดการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและชุ่มชื้น ลดอาการผิวหนังอักเสบ ช่วยเพิ่มระดับของความจำ มีสมาธิมากขึ้น เพิ่มความหนาแน่นของกระดูก อย่างไรก็ตาม ผลของการได้ฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคนซึ่งมีปัจจัยทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน
ข้อห้าม หรืออาการข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทน มีหรือไม่?
การให้ฮอร์โมนทดแทนจะให้ในปริมาณต่ำเท่ากับระดับปกติเท่านั้น ไม่มีการให้เกินขนาด ดังนั้น อาการข้างเคียงจึงมีน้อย ซึ่งอาการข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่พบได้คือ เลือดออกทางช่องคลอด ส่วนใหญ่พบได้ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ แต่เมื่อใช้อย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง นอกจากนี้อาจมีอาการอาการเจ็บเต้านม อาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งจะเป็นในช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น
สำหรับในสุภาพบุรุษมีข้อห้ามในการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายสามารถกระตุ้นมะเร็งต่อมลูกหมากให้ลุกลามไปได้เร็วขึ้น โดยแพทย์จะพิจารณาว่าสมควรใช้หรือไม่ควรใช้อย่างไร และมีการนัดตรวจติดตาม เพื่อประเมินผลการรักษา
อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนทดแทน เพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่เป็นเพียงแค่วิธีการหนึ่งในการดูแลสุขภาพเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือวิถีการดำเนินชีวิตที่จะต้องออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ จะทำสามารถผ่านช่วงวิกฤติแห่งวัยไปได้อย่างไม่มีปัญหา