หลายคนมักกังวลถึงแต่สุขภาพตับเมื่อเราพูดถึงการติดสุราหรือเป็นพิษสุราเรื้อรัง แต่รู้ไหมว่าอีกระบบสำคัญของร่างกายที่อาจพังไม่แพ้กันเมื่ออยู่ในภาวะติดสุราก็คือระบบสมองและประสาทนี่ล่ะ เรียกว่าภาวะความจำเสื่อมจากพิษสุราเรื้อรัง
เพราะ “แอลกอฮอล์” มีผลต่อระบบประสาท
ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดกับสมองนั้นนอกจากผลระยะสั้นที่เห็นได้ทันที และผู้ที่ดื่มทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าอาจทำให้เราสูญเสียความทรงจำระยะสั้น (Amnesia) รู้สึกสับสน ไม่สามารถจำเหตุการณ์ในช่วงนั้นได้ เดินเซ ทรงตัวลำบาก หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “เมา” นั่นเอง แต่หากดื่มแอลกอฮอล์อย่างยาวนานในปริมาณมากๆ จนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผลของแอลกอฮอล์ที่เกิดกับระบบสมองและประสาทจะทำให้เกิดภาวะสมองฝ่อ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าไปทำลายเซลล์สมองโดยตรง ลดประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียในเซลล์สมอง เนื้อสมองเสียหาย และที่สำคัญแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 1 ได้ ทำให้ขนาดของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเล็กลง สูญเสียความสามารถในการจำและการพูด เรียกว่ากลุ่มอาการทางสมองประเภท Korsakoff’s Syndrome หรือภาวะความจำเสื่อมจากสุรานั่นเอง
อาการเตือนว่าเริ่มความจำเสื่อมจากสุรา
ในผู้ป่วยที่ติดสุรา หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หากเริ่มมีภาวะความจำเสื่อมในเบื้องต้นยังอาจรักษาและฟื้นฟูความจำให้กลับมาได้ แต่หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะความจำเสื่อมแบบถาวร ดังนั้น ผู้ป่วยและคนรอบข้างควรสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้
- มีความสับสน งุนงงเรื่องเวลา ระหว่างกลางวัน และกลางคืน
- มีปัญหาในการพูดสื่อสาร เช่น นึกคำศัพท์ไม่ออก ถามคำถามซ้ำๆ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์ร้อน ขาดการยับยั้งชั่งใจ
- มีปัญหาเรื่องความจำ ความทรงจำ ไม่สามารถจำเรื่องราวในระยะสั้นๆ ได้
- สมองไม่ประมวลผล ไม่สามารถคิดแก้ปัญหาในสิ่งที่เคยทำได้
การตรวจภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮอล์
ในผู้ที่เสพติดแอลกอฮอล์ และเริ่มสงสัยว่าอาจมีภาวะความจำเสื่อมจากสุราแล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นโดยเริ่มจากซักถามประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ รูปแบบการดื่ม ความถี่ ปริมาณ และชนิดของแอลกอฮอล์ ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อทดสอบการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบประสาทอัติโนมัติ เช่น การทรงตัว รีเฟล็กซ์ และทดสอบเกี่ยวกับความจำ นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เช่น ค่าการทำงานของตับ ระดับวิตามินบี น้ำตาลและไขมันในเลือด ระดับโปรตีนในเลือด และอาจทำถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์สมอง เพื่อวินิจฉัยระดับความเสียหายของสมองและระบบประสาท
การรักษาสภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮอล์
เนื่องจากสมองถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง แพทย์จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดปริมาณสารพิษที่จะทำลายเซลล์สมองเพิ่มเติม และทำการให้วิตามินบี 1 ทางหลอดเลือดดำทดแทนส่วนที่ร่างกายขาดไป ซึ่งอาจทำให้สมองที่ถูกทำลายไปกลับมาฟื้นฟูได้ หากยังไม่ถูกทำลายมาก หลังจากนั้นจึงรักษาอาการแทรกซ้อนจากการติดสุราอื่นๆ เช่น รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง หรือการขาดสารอาหาร เป็นต้น
การบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดสุรา
นอกจากการรักษาภาวะความจำเสื่อมจากสุราแล้ว ผู้ป่วยที่ติดสุรายังจำเป็นต้องได้รับการบำบัดอาการติดสุราด้วย โดยในขั้นแรกผู้เสพติดแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเข้ารับการถอนพิษสุรา หรือเรียกว่าช่วงล้างพิษ คือแพทย์จะเฝ้าดูอาการและให้ผู้ป่วยหยุดดื่มหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ลง โดยทำควบคู่กับการให้ยาบรรเทาอาการขาดสุรา เช่น ยา Naltrexone ยานี้จะลดความสุขที่เกิดจากการดื่มสุรา หรือยา Disulfiram เป็นยาป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยดื่มสุรา เพราะจะทำให้รู้สึกปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนหากดื่มสุราในขณะที่ทานยานี้ เมื่อผู้ป่วยผ่านการรักษาในช่วงถอนพิษสุราได้แล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยมีกิจกรรมกลุ่มบำบัด เพื่อฝึกทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้มีระเบียบวินัยในตนเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัว เชื่อมั่นในตนเอง และกลับไปดำเนินชีวิตได้โดยไม่พึ่งการดื่มสุราอีก
จะเห็นได้ว่าผลร้ายของการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้ส่งผลเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปและต่อเนื่องยาวนาน ยังส่งผลร้ายทางร่างกายอย่างรุนแรง และอาจทำลายสมองแบบถาวร อย่างการเกิดภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย