อาการ “กล้ามเนื้อ และเอ็นอักเสบ” สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยที่เราอาจไม่ทันระวังตัว และเมื่อมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และอาจพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิตไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา หรือคนที่เล่นกีฬา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงกิริยาหรือพฤติกรรมที่ก่อให้กิดอาการกล้ามเนื้อ และเอ็นอักเสบ
เอ็นอักเสบ และ กล้ามเนื้ออักเสบ เกิดได้อย่างไร?
สาเหตุของการเกิดการบาดเจ็บสามารถเกิดได้ทั้งจากแรงภายนอก และบาดเจ็บจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งการบาดเจ็บจากแรงภายนอก เช่น แรงปะทะของนักฟุตบอลที่คู่ต่อสู้ยกเท้ามายันที่ต้นขาอย่างแรง ซึ่งมีกล้ามเนื้อต้นขาอยู่จนเกิดการฟกช้ำ เวลาถูกกระแทกฟกช้ำจะทำให้หลอดเลือดฝอยต่างๆ ฉีกขาด มีเลือดออกมาในชั้นกล้ามเนื้อหรือหากกระแทกรุนแรงก็อาจมีการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ มีเลือดออกมากขึ้น จึงเกิดอาการบวม ภายใน 48-72 ชั่วโมงแรก
กรณีบาดเจ็บจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเองนั้น เกิดจากการหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด จนอาจทำให้เกิดมีหลอดเลือดฝอยบริเวณใยกล้ามเนื้อมีการฉีกขาด ต้นเหตุอาจมาจากการใช้งานมากเกินไป เช่น การเล่นเวทที่เรียกน้ำหนักมากเกินไปหรือเล่นนานเกินไป จนเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นที่ถูกใช้งานมากเกินไปได้
3 สาเหตุยอดฮิตต้นเหตุ “กล้ามเนื้อ และเอ็นอักเสบ” ของนักกีฬา
- ขาดการเตรียมร่างกายก่อนออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายหนักเกินไป เช่น การออกกำลังกายแบบการยกเวท ที่เรียกหนักมากจนเกินไป
- ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาท่าเดิมซ้ำมากเกินไป หรือเร็วจนเกินไป เช่น เทนนิส (ข้อมือ ข้อศอก) ว่ายน้ำ (ไหล่ แขน) กอล์ฟ (แขน หลัง เอว)
วิธีป้องกัน กล้ามเนื้อ และเอ็นอักเสบ
ก่อนออกกำลังกาย และเล่นกีฬาทุกชนิด ควรวอล์มร่างกายด้วยการออกท่ากายบริหารในส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างน้อย 5-10 นาที และไม่ควรออกกำลังกายท่าเดิมซ้ำๆ ไม่ควรเปลี่ยนอิริยบทแบบกะทันหัน เช่น บิดตัว หรือ หันตัวกะทันหัน นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้งานอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนานๆ และมากเกินไป ควรออกการออกกำลังกายเป็นประจำ มิใช่นานๆ ออกทีแต่ออกกำลังหนักและนานแบบหักโหม
เส้นเอ็นอักเสบ รักษาอย่างไร
โดยปกติภาวะเอ็นอักเสบที่เกิดจากการใช้งานร่างกายมากเกินไป การหยุดพักใช้งานบริเวณที่บาดเจ็บก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง หรืออาจจะบรรเทาอาการปวดด้วยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือใช้ยาทาบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ ร่วมด้วย ในกรณีที่มีอาการปวดมาก และไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ควรพบ บางรายจำเป็นต้องเข้ารับการเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัย ซึ่งการรักษาอาจจบลงด้วยการ กายภาพบำบัด รับประทานยา ฉีดยา แต่หากเป็นกรณีเส้นเอ็นฉีกขาด แพทย์จะต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็น
นอกจากการเล่นกีฬาแล้ว อาการกล้ามเนื้อ และเอ็นอักเสบ ยังสามารถเกิดได้กับทุกคน หากมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะ ในกลุ่มคนนรักสุขภาพออกกำลังกายเป็นประจำ และในกลุ่มคนที่ทำงานหนักๆ มีการเคลื่อนไหวข้อต่อและกล้ามเนื้อมากๆ ทำให้เกิดการกระทบกระแทก อุบัติเหตุตกบันได เดินตกหลุม สะดุดสิ่งกีดขวางบนพื้น ยกของหนักกะทันหัน หรือยกของหนักซ้ำๆ มากเกินไป ขับรถ แล้วเอี้ยวตัวไปไปด้านหลัง หรือก้มเก็บของลึกๆ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคข้อเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบติดแข็ง และกลุ่มอาการไรเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน จนกล้ามเนื้อเท้า เส้นเอ็นข้างฝ่าเท้า ส้นเท้าอักเสบ เพราะรับน้ำหนักตัวมากเกินไป เป็นต้น