การนั่ง หรือยืนเป็นเวลานานๆ จากการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดเกิดจากเส้นเลือด และขั้ว เปิด-ปิดในเส้นเลือดไม่สมบูรณ์เสื่อมสภาพ จึงเกิดการคั่งของเส้นเลือด ปกติขณะที่หัวใจสูบฉีดส่งเลือดแดงเลี้ยงอวัยวะในร่างกาย จะมีเลือดที่ใช้ออกซิเจนหมดแล้วขึ้นกลับไปฟอกใหม่ ซึ่งเส้นเลือดในบางเส้นที่ไม่มีความแข็งแรงจะไม่สามารถส่งเลือดกลับไปได้ตามปกติ จึงมีการคั่งของเลือด ทำให้เส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดที่ขามี 2 ประเภท คือ
- เส้นเลือดโป่ง (Varicose Veins) เกิดจากผนังเส้นเลือดบาง ทำให้เส้นเลือดพอง และขดเป็นหยักอาจมีสีเขียวผสมม่วง
- เส้นเลือดฝอย ลักษณะเป็นแพแบบเส้นใยแมงมุม (Spider Veins) อยู่ตื้นมีขนาดเล็ก สีม่วงหรือแดงมองเห็นคล้ายใยแมงมุม
อาการของเส้นเลือดขอดสามารถเห็นได้ อาจมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง สีม่วง และสีเขียวตามจุดต่างๆ ของร่างกาย อาทิ บริเวณน่อง ขาพับ ต้นขา อาการอื่น ๆ เช่น บางรายอาจปวดเมื่อยขา เมื่อได้นอนราบและยกขาสูงจะรู้สึกดีขึ้น แต่ในบางรายไม่มีอาการร่วมหากปล่อยไว้นานจะเป็นมากขึ้นได้
สาเหตุของเส้นเลือดขอด
- เกิดจากทำงานโดยต้องยืน เดิน นานๆ เช่น พนักงานขายสินค้า พนักงานเก็บค่าโดยสาร
- เกิดจากกรรมพันธุ์ พ่อแม่มีหลอดเลือดขอด ลูกก็มีโอกาสเป็นด้วย
- เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นหลอดเลือดขอดเพิ่มขึ้นเนื่องจากความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของลิ้นหลอดเลือดลดน้อยลง
- เกิดจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชายเนื่องจากผลของฮอร์โมนเพศหญิงโดยตรง
- เกิดจากการมีน้ำหนักมากเกินไป คนที่มีน้ำหนักมากเกินเลือดจะหมุนเวียนได้ไม่สะดวก จะเกิดการคั่งค้างของเลือดบริเวณขามากขึ้น จึงทำให้เกิดหลอดเลือดขอดได้มาก
- เกิดจากการกระทบกระแทกหรือกดทับเช่น ไขว่ห้าง เนื่องจากเลือดเดินไม่สะดวก
- เกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งจะทำให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่ดี
แนวทางการจัดการกับเส้นเลือดขอดสามารถทำได้โดย
แพทย์จะพิจารณาจากอาการ และลักษณะของเส้นเลือดที่ขอดของแต่ละบุคคล ซึ่งมี 2 แนวทางด้วยกัน คือ การรักษาเส้นเลือดขอดโดยไม่ผ่าตัดแบบประคับประคอง ด้วยวิธีรักษาตามอาการ ตั้งแต่การปฏิบัติตัวเปลี่ยนอิริยาบถ, สวมถุงน่องชนิดพิเศษ ซึ่งมีความหนา และแน่นกว่าถุงน่องทั่วไป,ใช้ยานวดบรรเทาอาการ, การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ และเมื่อรับการรักษาข้างต้นที่กล่าวมา แต่อาการไม่ดีขึ้น สุดท้ายเป็นการรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดจะทำในกรณีเกิดภาวะอุดตันภายในหลอดเลือดอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆและมีภาวะแทรกซ้อน
ทำไมต้องรักษา
เส้นเลือดขอดเป็นโรคที่หลายๆ คนละเลย เพราะคิดว่าไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อการดำเนินชีวิต แต่ความจริงแล้ว หากเราปล่อยให้เส้นเลือดขอดอยู่กับเราไปนานๆ คุณอาจจะต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดจนถึงขั้นไม่สามารถที่จะยืนหรือเดินได้ หรือในบางรายเป็นมากจนถึงขั้นเส้นเลือดแตก การรักษาหลอดเลือดขอด ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือดขอดมี 5 วิธี
- การพันขาลดอาการคั่งบวม
- การฉีดสารเคมีทำให้หลอดเลือดตีบ (Sclerotherapy)
- การใช้ คลื่นความถี่วิทยุ Radio Frequency Ablation (RFA)
- การใช้ Laser
- การผ่าตัด
ทางเลือกใหม่ในการจัดการ “เส้นเลือดขอด”
Radio Frequency Ablation (RFA) เป็นเครื่องมือที่ทันสมัย และมีแผลขนาดเล็ก แทบจะไม่มีแผลเปิด มีเลือดออกน้อย ไม่ต้องดมยาสลบ บางรายอาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังการรักษา หรือกลับบ้านได้ทันที ทำไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาด้วย Radio Frequency Ablation ใช้หลักการเดียวกับการเลเซอร์ โดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านหลอดเลือดจะใช้วิธีเจาะผ่านรูเข็มขนาดเล็กแล้วใส่ขดลวด (สาย Fiber Optic) เข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา โดยเครื่องจะแปรพลังงานจากคลื่นวิทยุมาเป็นความร้อน ซึ่งความร้อนในระดับนี้จะทำให้เส้นใยของคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของผนังเส้นเลือดดำฝ่อตัวลงไปในที่สุด
เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ…ต้องอาศัยความร่วมมือ
เมื่อทำการรักษาด้วย Radio Frequency Ablation เส้นเลือดขอดจะยุบลง 50% และอีกใน 6-8 สัปดาห์จะค่อยๆยุบตัวลงอีก 90-100% จากการติดตามผลการรักษาเฉลี่ยในช่วงระยะประมาณ 2-4 ปี ผู้ป่วยบางรายอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 5-10% แต่จะเป็นแค่เส้นเลือดฝอยเล็กๆ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยา อย่างไรก็ตามภายหลังการรักษา ช่วงแรกจะต้องใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดร่วมด้วย รวมถึงงดการยกของหนัก หรือยืนนานๆ เป็นเวลา 7 วัน และควรออกกำลังกายโดยการเดินทุกวัน เพื่อกระตุ้นให้ยากระจายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น และควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ เรียกได้ว่าการรักษาเส้นเลือดขอดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เรียกความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
คำแนะนำในการปฏิบัติหลังการรักษา
- ควรงดการยกของหนักหรือยืนนานๆ เป็นเวลา 3-7 วัน
- ควรใส่ผ้ายืดหรือซัพพอร์ทในบริเวณที่ทำการรักษา เพื่อประคองกล้ามเนื้อและเส้นเลือดบริเวณนั้น ส่วนระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือด โดยเส้นเลือดเล็กฝอยให้ใส่ไว้ 1-3 วัน ส่วนเส้นเลือดขอดขนาดกลาง (ขนาดเท่าไส้ปากกา) ควรใส่อย่างน้อย 7 วัน ขึ้นไป
- ควรออกกำลังกายด้วยการเดินทุกวัน เพื่อกระตุ้นให้ยากระจายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น
- ควรพบแพทย์ตามนัดภายใน 2-4 สัปดาห์ เพื่อแพทย์จะได้ติดตามผลการรักษา