ปัญหาลิ้นหัวใจตีบเป็นอาการของความเสื่อมที่ผู้สูงอายุมักต้องเจอ เนื่องจากหลอดเลือด และลิ้นหัวใจถูกใช้งานมานานตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการเสื่อมสภาพ ขาดความยืดหยุ่น แข็ง กรอบ มักมีไขมัน และหินปูนเกาะ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานได้น้อยลง ไม่สามารถเปิด-ปิดได้สนิท
การผ่าตัดเปลื่ยนลิ้นหัวใจเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม เป็นทางเลือกใหม่ในการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่มีปัญหาโรคนี้มักเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยการเปิดหน้าอก เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่สามารถใช้วิธีผ่าตัดได้ ทำได้เพียงการรักษาด้วยยาเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมได้บ่อย มีโอกาสเสียชีวิตสูงภายในระยะเวลา 3-5 ปี เนื่องจากลิ้นหัวใจเอออร์ติก ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ในที่สุด
ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ก็เปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมได้
เทคนิค TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) คือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยเทคนิคผ่านสายสวนแบบไม่ต้องเปิดหน้าอก โดยใช้สายสวนหัวใจที่มีลิ้นหัวใจเทียมอยู่ปลายสาย สอดเข้าไปทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ เทคนิคนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะการตีบของลิ้นหัวใจรุนแรง ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เรียกว่า ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัว และบุตรหลานได้อย่างมีความสุข
TAVI เทคนิค ที่ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพ
เทคนิค TAVI สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอายุมาก รวมถึงมีโรคประจำตัวสามารถทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ด้วยการใช้ลิ้นหัวใจเทียมที่ยึดติดอยู่กับขดลวด และสามารถม้วนให้เล็กลงเพื่อให้เข้าไปอยู่ในท่อเล็กของระบบนำส่ง (Delivery system) ขนาดประมาณ 8 – 10 มิลลิเมตร ทำการสอดไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ ไปยังยอดของหัวใจห้องล่างซ้าย เมื่อไปถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติกแล้ว จึงทำการปล่อยตัวลิ้นหัวใจเทียมที่ม้วนอยู่ออกมาจากระบบนำส่ง จากนั้นลิ้นหัวใจจะกางออกกลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่ ซึ่งวิธีการนี้ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง บริเวณหน้าอกด้านซ้าย หรือด้านบนของหน้าอกข้างขวาเท่านั้น
แม้อายุมาก โรคประจำตัวเยอะก็ไม่เป็นอุปสรรคในการรักษา
การรักษาด้วยวิธีนี้ เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่ปอดไม่ดี ผู้ป่วยที่เคยทำการผ่าตัดหัวใจมาก่อน และผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดใหญ่แข็งมาก ช่วยลดอัตราภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด เช่น ติดเชื้อ หรือไตวาย หลังการรักษาผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วเนื่องจากเสียเลือดน้อย เจ็บปวดจากแผลน้อย คุณภาพชีวิตดีขึ้น ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น และไม่มีความเสี่ยงจากการดมยาสลบ