ทารกแรกเกิดเป็นวัยที่มีภาวะปกติเกิดขึ้นหลายอย่าง อาจทำให้คุณพ่อ-คุณแม่เกิดความวิตกกังวลขึ้นได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาวะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่สามารถหายไปได้เอง
ผิวหนังลอก
การที่คลอดครบกำหนดปกติ ผิวหนัง 1-2 วันแรกยังไม่ลอก หลังวันที่ 2 เริ่มปรากฏให้เห็นมักพบลอกที่มือ และเท้า จะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังคลอด ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ
ตัวเหลือง
เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด จะพบตัวเหลืองในวันที่ 2-4 หลังคลอด เนื่องจากการทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ขับถ่ายสารเหลืองจากร่างกายได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดการคั่งในกระแสเลือด ป้องกันโดยให้ทารกอยู่กับมารดาตลอดเวลาเพื่อดูดนมแม่บ่อยๆ (นมแม่จะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย) หากพบอาการเหลืองมาก ควรพบแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษา
การแหวะนม
หลังดูดนม ทารกอาจจะขย้อน หรือแหวะน้ำนมมาเล็กน้อยได้บ่อยๆ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะหูรูดกระเพาะของทารกแรกเกิดยังทำงานไม่ดี ทำให้หูรูดปิดไม่สนิท มีผลทำให้ทารกแหวะนมเล็กน้อยหลังมื้อนม อาจออกมาทางจมูกและปาก น้ำนมที่ออกมาอาจมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ เนื่องจากน้ำนมถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นขั้นตอนการย่อย คุณพ่อ-คุณแม่อาจเข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่ย่อย หรือนมที่ให้ลูกไม่ดี การป้องกันการแหวะนม คือ การไล่ลมหรือจับให้ทารกเรอ ร่วมกับการจัดให้ทารกนอนศีรษะสูงและตะแคงขวาหลังดูดนมประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านอนดังกล่าว หูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูง ทำให้นมไหลออกมาได้น้อย
วิธีการจับทารกเรอ
- นำทารกนั่งตักหลังตรง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้รองใต้คางลูกส่วน 3 นิ้วที่เหลือไว้บริเวณใต้รักแร้ ลูบหลังหรือตบหลังเบาๆ ลูกจะเรอออกมาเอง
- อุ้มลูกพาดบ่าในท่านอนคว่ำ ให้คางลูกเกยบนไหล่คุณแม่พอดีลูกจะเรอออกมาเองหรือคุณแม่ตบหลังลูกเบาๆ ลูกจะเรอเช่นกัน
การจาม
การจาม เป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิดทุกคน จะจามมากหรือน้อยก็ได้ทั้งที่ทารกมิได้เป็นหวัด ส่วนมากเกิดจากการมีฝุ่นละออง หรือน้ำเมือกในจมูกแห้งแล้วทำให้เกิดการระคายเคือง ทารกจะคันจมูกและจาม บางครั้งอาจเกิดจากคุณแม่ใช้แป้งฝุ่นมากเกินไป
การสะดุ้ง หรือผวา
การสะดุ้ง หรือผวาเวลามีเสียงหรือเวลาสัมผัสทารก เป็นสิ่งที่พบในทารกทุกคนเพราะแสดงถึงระบบประสาทที่ดี เป็นการทดสอบง่ายๆ ว่าทารกได้ยินเสียง ทารกตอบสนองโดยการยกแขนหรือขา แบมือ และกางแขนออกแล้วโอบเข้าหากัน การตอบสนองแบบนี้พบเมื่อทารกหลับสนิท การผวา พบได้จนถึงอายุ 6 เดือน
การสะอึก
การสะอึกพบภายหลังดูดนม เนื่องจากการทำงานของกะบังลมยังไม่ปกติ และส่วนยอดของกระเพาะอาหารที่ขยายตัวจากน้ำนม และลมที่กลืนลงสู่กระเพาะสัมผัสกะบังลม หากทำการไล่ลมโดยจับทารกนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าสักครู่อาการสะอึกจะหายเอง
คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลเด็กเมื่อกลับถึงบ้าน
นมมารดาให้ได้ทุกครั้งที่เด็กร้อง ตามความต้องการของทารก โดยเริ่มข้างละ 5-10 นาที ถ้าน้ำนมมากให้ดูดนานขึ้นจนเด็กอิ่ม ควรจับเรอทุกครั้งที่เปลี่ยนข้างเต้านม และหลังจากให้นมเสร็จ ถ้าทารกหลับนานกว่า 3-4 ชั่วโมง ควรปลุกขึ้นมารับประทานนม ถ้าจำเป็นต้องให้นมผสม ควรจับเรอทุก 1 ออนซ์ จนหมดขวด ทำความสะอาดขวดนม โดยการต้ม หรือนึ่งในน้ำเดือด 20 นาที
การขับถ่าย
ถ้าได้รับน้ำนมมารดาเต็มที่ทุกมื้อ เด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลือง เหลวบ่อยครั้ง อาจถ่ายทุกมื้อนม
การรักษาแผลที่ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค
เด็กจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคก่อนออกจากโรงพยาบาลทุกคน ประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ตรวจรอยวัคซีนที่หัวไหล่ซ้ายจะเป็นตุ่มแดงขึ้นมา หรือเป็นตุ่มหนองห้ามแกะ ถ้าตุ่มหนองแตก ให้ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดให้สะอาดบริเวณตุ่มหนอง ถ้าตุ่มหนองเป็นแผลใหญ่มาก ให้มาพบแพทย์
การรักษาสายสะดือ
สะดือเปียกน้ำได้ ไม่ว่าจะหลุด หรือไม่ก็ตาม สายสะดือหลุดได้ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป จนถึง 1-2 สัปดาห์ ก่อนสายสะดือจะหลุด โคนสะดือจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดเก่าๆ ออกมา ให้ทำความสะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งหลังอาบน้ำ โดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดให้สะอาดจนถึงโคนสะดือ ถ้าสะดือหลุดแล้วให้เช็ดต่อไปจนกว่าสะดือจะแห้ง
การอาบน้ำ
อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นทุกวัน พร้อมสระผมวันละ 1 ครั้ง
อาหารเสริม
ควรปรึกษากุมารแพทย์