โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัส ที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของการติดเชื้อทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ (gastroenteritis) เฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อผ่านการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วในกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีการรวมตัวของผู้คน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน หรือเรือสำราญ และยังนับเป็นเชื้อไวรัสที่เจอได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว
สาเหตุของการเกิด
มักเกิดจากการติดเชื้อ Norovirus ซึ่งเป็นสาเหตุโรคติดต่อทางเดินอาหาร สามารถอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย และสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 2 สัปดาห์ จึงแพร่ระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะฤดูหนาว และไม่สามารถทำลายเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์
ลักษณะและการแพร่ระบาด
โนโรไวรัสเป็นไวรัสขนาดเล็กที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้สามารถอยู่รอดในสภาพอากาศที่หลากหลายและแพร่กระจายได้ง่ายการติดเชื้อมักเกิดจาก
- การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น อาหารดิบ อาหารทะเล หรือผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้างไม่สะอาด น้ำแข็งที่มีเชื้อปนเปื้อน
- การสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน เช่น ที่จับประตู โต๊ะ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ
- การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น การใช้ภาชนะร่วมกัน การดูแลผู้ป่วย หรือหายใจเอาละอองจองเชื้อเข้าไปในร่างกาย
อาการของโรค ระยะเวลาฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 24-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ท้องเสีย (ถ่ายเหลวมักเป็นน้ำ)
- ปวดท้องและเกร็งท้อง
- มีไข้
- ปวดเมื่อยตามตัวและอ่อนเพลีย
ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาการของโรคมักคงอยู่ประมาณ 1-3 วัน ส่วนมากหายได้เอง แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการอาจรุนแรง อาจก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ และต้องได้รับการดูแลจากแพทย์
วิธีป้องกันและรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโนโรไวรัสได้โดยตรง เป็นการรักษาตามอาการ การรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนให้ยาแก้อาเจียน หากขาดน้ำจะให้น้ำเกลือแร่หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ การให้ยาปฏิชีวนะจะไม่มีประโยชน์ในการรักษาการติดเชื้อ norovirus สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
การป้องกันโรคโนโรไวรัส การป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยปฏิบัติตามแนวทางดังนี้:
-
- ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังสัมผัสกับผู้ป่วย
- รับประทานอาหารที่สุกสะอาดหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก โดยเฉพาะอาหารทะเล และล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค
- กินร้อน ใช้ช้อนกลาง
- ทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่สัมผัสบ่อย ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
โนโรไวรัสเป็นโรคที่แม้จะไม่ร้ายแรงสำหรับคนทั่วไป แต่การแพร่ระบาดของไวรัสนี้สามารถส่งผลกระทบในวงกว้างได้ การป้องกันและดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้ ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง