คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังเรื่องการทานยาเป็นอย่างมาก เพราะยาบางชนิดที่ทานขณะตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อการเจริญเติบโต หรือสุขภาพของลูกในครรภ์ ดังนั้นก่อนซื้อหรือใช้ยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และต่อไปนี้คือตัวอย่างชนิดยาบางชนิดที่คุณแม่ควรจำไว้ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังก่อนทานยาเหล่านี้
ยารักษาอาการแพ้ท้อง ปัจจุบันยาที่เชื่อว่าปลอดภัยสำหรับลูกน้อยในครรภ์ คือวิตามินบี 6 และยาไดเมนโฮดริเนต แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการไม่มาก และไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา มีวิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง ดังนี้
- ดื่มน้ำเยอะๆ ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า ลดอาการตัวบวม เวียนศีรษะจากการแพ้ท้อง หรืออาจเพิ่มรสชาติด้วยกราดื่มน้ำผลไม้สดแบบทำเอง ชา น้ำขิงสดก็เป็นอีกเครืองดื่มที่แนะนำ เพราะข่วยลดอาการคลื่นไส้ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และการย่อยอาหารได้ดี
- ทานอาหารที่มีโปรตีนเยอะๆ ป้องกันท้องอืด แน่นท้อง เปลี่ยนไปทานสลัด หรือผลไม้สดแทนหากอยากรสเปรี้ยว และแบ่งทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยมื้อ และหลีกเลี่ยงอาหารมันสูง หรือรสเผ็ดจัด และกลิ่นแรง
- ประทานเครื่องดื่มอุ่นๆ หลังตื่นนอน เช่น นม นมถั่วเหลือง หรือน้ำผลไม้ เพื่อลดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ และนอนพัก 20-30 นาที ให้อาการทุเลาลงก่อนลุกออกจากเตียง
- เดิน การเดินช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด และบรรเทาอาการแพ้ท้องได้
- ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ลดความวิตกกังวล
ยาแก้หวัดและยาแก้แพ้ ยาที่ปลอดภัย คือ ยาแก้แพ้คลอร์เฟนนิรามีน แต่มีข้อเสีย คือทำให้เกิดอาการปากแห้ง ง่วงซึม มึนงง หากคุณแม่มีอาการคัดจมูกไม่มากนัก การใช้วิธีธรรมชาติ เช่น สูดดมไอน้ำร้อน ดม หรือทายาน้ำมันหอมระเหย รักษาร่างกายให้อบอุ่น และดื่มน้ำมากๆ ก็เป็นวิธีที่เหมาะสม
ยาแก้ไอ ขับเสมหะ คุณแม่สามารถใช้ได้หากจำเป็น ได้แก่ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน, เอ็น-อะเซทิลซีสเทอีน, ยกเว้น ไกวเฟเนซิน ที่ไม่ควรใช้ในคุณแม่ที่ตั้งท้องไตรมาสที่ 1 เนื่องจากทำให้มดลูกบีบตัวได้ หากคุณแม่มีอาการไม่มาก รับประทานน้ำอุ่นบีบมะนาวลงไปเล็กน้อย และจิบบ่อยๆ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล และต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะยาแก้ไอบางตัวส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
ยาบรรเทาปวด ลดไข้ ยาที่ปลอดภัย คุ้นเคยและรู้จักกันดี คือ ยาพาราเซตามอล รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลามีอาการปวดหรือมีไข้ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด หรือติดต่อกันนานเกิน 10 วัน กรณีคุณแม่มีปัญหาเกี่ยวกับตับไต ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน และยากลุ่มเอ็นเสดในครรภ์ไตรมาสที่ 1 และ 3
ยาต้านการติดเชื้อ ยากลุ่มเพนนิซิลินเป็นยากลุ่มที่ปลอดภัย ยกเว้นผู้ที่แพ้ยานี้ อาจเลี่ยงไปใช้ยาอิริโทรมัยซิน
- ยากลุ่มเตตร้าชัยคลิน, ด๊อกซี่ชัยคลินที่เป็นอันตราย ซึ่งยากลุ่มนี้จะเกาะกับเคลือบฟัน และกระดูก ทำให้ทารกคลอดออกมามีฟันเหลือง ดำ กระดูกไม่แข็งแรง หรือหากยาหมดอายุ เสื่อมสภาพ จะมีผลต่อตับ และไตคุณแม่
- ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ ไม่ควรใช้ในช่วงเวลาใกล้คลอด เพราะจะทำให้ทารกมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีฟอง ถ้าเป็นมากสมองอาจเสื่อม และปัญญาอ่อนได้ในที่สุด ยาต้านการติดเชื้ออื่นๆ บางตัวอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย
- ยาบำรุง วิตามิน เกลือแร่ ช่วงตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการวิตามิน และแร่ธาตุบางชนิดเพิ่มขึ้นกว่า ปกติ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ซึ่งเมื่อคุณแม่มาฝากครรภ์ แพทย์จะพิจารณาให้วิตามินที่เหมาะสม
ยาระบาย และรักษาโรคท้องร่วง ท้องเสีย ปัญหาท้องผูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยในคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ จึงควรรับประทาน ผัก ผลไม้ที่มีกากมากๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรใช้ยาเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ โดยใช้ยาที่สกัดจากธรรมชาติ มีฤทธิ์อ่อน เช่น ยาที่ผลิตจากเมล็ดเทียนเกล็ดหอม (เมตามูซิล) ยาที่ผลิตจากใบมะขามแขก (เสโนกอต) หรือยาสอดเข้าทางทวารหนัก หากมีปัญหาเรื่องท้องเสีย ต้องดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน ถ้าไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์