Q: การตรวจร่างกายหลังคลอด จำเป็นหรือไม่
A: ภายหลังการคลอดแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดให้มาตรวจสุขภาพหลังคลอดเพื่อดูว่าอวัยวะต่างๆ ของคุณแม่กลับคืนสู่ปกติหรือยัง มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ โดยการตรวจหน้าท้อง ตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูกและซักถามสุขภาพโดยรวม รวมทั้งให้คำแนะนำการคุมกำเนิดหลังคลอดด้วย เพื่อไม่ให้ตั้งครรภ์ใหม่เร็วเกินไป
Q: อาการที่อาจเป็นได้ หลังจากคุณแม่คลอด
A: น้ำคาวปลา หรือเลือด และเนื้อเยื่อที่หลุดออกจากเยื่อบุมดลูก ในระยะหลังคลอด ช่วงเวลา 2 – 3 วันแรกจะมีสีแดงสดปริมาณค่อนข้างมาก จากนั้นสีจะจางลงเรื่อยๆ จนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และปริมาณค่อยๆ ลดลงจนหมด มดลูกจะเข้าอู่หลังคลอด ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ไม่ควรวิตกกังวลหากน้ำคาวปลาออกน้อย กรณีน้ำคาวปลามีกลิ่น สีแดงสดตลอดเวลา หรือปริมาณมากขึ้น รีบมาพบแพทย์ทันที รวมถึงขณะที่ให้นมบุตร จะมีน้ำคาวปลาจำนวนมากกว่าปกติ และมีอาการปวดมดลูก (ปวดท้อง) ร่วมด้วย เนื่องจากมดลูกมีการบีบรัด เพื่อจะขับน้ำคาวปลาออก
Q: เมื่อมีอาการปวดท้อง อันตรายหรือไม่ ต้องจัดการอย่างไร
A: อาการปวดท้องน้อยบริเวณมดลูก เป็นภาวะปกติที่มดลูกบีบตัว เพื่อให้เลือดในโพรง มดลูกไหลออกน้อยลง ช่วงหลังคลอด ถ้ามีอาการปวด มากโดยเฉพาะในช่วงกำลังให้นมลูกมดลูกจะบีบตัวมาก ให้รับประทานยาแก้ปวดได้
Q: หลังคลอด จะมีประจำเดือนปกติหรือไม่
A: ในรายที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่มีประจำเดือน แต่ถ้ามีประจำเดือนระหว่างให้นมบุตรก็ไม่จัดว่าผิดปกติ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ถือว่าเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ หากเกิน 3 เดือนไปแล้ว จะมีการตกไข่เมื่อใดก็ได้ สำหรับรายที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีประจำเดือนภายใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอด ประจำเดือนครั้งแรกอาจจะออกนาน หรือมากกว่าปกติ
Q: คลอดบุตรแล้ว สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่
A: ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากระยะหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลา และปากมดลูกยังปิดไม่สนิท รวมทั้งอวัยวะภายในต่างๆ ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติดีนัก อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ หรือติดเชื้อได้ง่าย
Q: จำเป็นแค่ไหนที่ต้องคุมกำเนิด
A: ถ้าไม่มีการคุมกำเนิด อาจตั้งครรภ์ได้ เพื่อสุขภาพของมารดาและบุตรในอนาคต ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์ประมาณ 1-2 ปี ด้วยการคุมกำเนิดซึ่งมีอยู่หลายวิธี จะเลือกใช้วิธีใดควรปรึกษาแพทย์เพื่อความเหมาะสมในแต่ละราย
Q: เคล็ดไม่ลับในการดูแลแผลจากการ (คลอดธรรมชาติ)
A: ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอด เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย การดูแลฝีเย็บ (ในกรณีคลอดทางช่องคลอด) คุณแม่จะรู้สึกเจ็บแผลฝีเย็บประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังคลอด ควรทำความสะอาดด้วยสบู่เหลวจากด้านหน้า ไปด้านหลัง เพื่อไม่นำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผล ถ้ามีอาการเจ็บแผล ฝีเย็บมาก อาจแช่น้ำอุ่นผสมเกร็ดด่างทับทิมเล็กน้อยนาน 15 นาที เพื่อทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น แผลจะหายเร็วขึ้น
Q: คุณแม่มีวิธีดูแลเต้านมหลังคลอด อย่างไรบ้าง
A: ในรายที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลังคลอดเต้านมจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อเต้านมคัดแล้วควรสวมเสื้อชั้นในที่กระชับเพื่อพยุงเต้านมไว้ ในระยะ 2-3 วันแรกจะมีน้ำเหลืองที่เรียกว่า โคลัสตรัม (Colostrum) ออกมาก่อน ซึ่งน้ำนมนี้จะมีประโยชน์ต่อลูกมาก หลังคลอดวันที่ 3 คุณแม่จะรู้สึกคัดตึงที่เต้านม ทำให้รู้สึกปวด บางครั้งอาจทำให้มีไข้ ควรให้ลูกดูดนมจนหมด
ในรายที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรแจ้งแพทย์ตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้น้ำนมไหล ไม่เกิดอาการคัดและปวด แต่ถ้ามีอาการคัดตึงเต้านมอย่ากระตุ้นเต้านมไม่ว่าวิธีใดๆ ทั้งสิ้นให้บีบน้ำนมออกจนเต้านมนุ่ม และหายปวดได้ 1 ครั้ง และประคบด้วยความเย็น แล้วจึงใส่เสื้อชั้นในที่รัดและกระชับแน่น
การทำความสะอาดเต้านมเวลาอาบน้ำ ควรล้างเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสะอาดธรรมดาก็เพียงพอ การล้างด้วยสบู่ หัวนมจะสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติ ทำให้หัวนมแตกได้ง่าย
Q: ข้อห้ามที่ไม่ควรทำของคุณแม่หลังคลอด
A: ไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักเกินกว่าทารก หรือออกแรงเบ่งมากๆ นานๆ ในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด สามารถใช้ผ้ายืดรัดหน้าท้อง เพื่อพยุงไม่ให้มดลูกเคลื่อนตัวมากเวลาเดิน
เจ็บแผลฝีเย็บ
คุณแม่ที่คลอดปกติทางช่องคลอด หลังคลอดจะมีอาการปวดบริเวณฝีเย็บ หากปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด ประมาณ 3-4 วัน หลังคลอด อาการปวดแผลจะน้อยลงมาก ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดจะหายไปภายหลังคลอด 1 สัปดาห์ ถ้าปวดแผลมาก แผลบวมแดง กดเจ็บ นั่งไม่ได้อาจมีอาการอักเสบของแผล ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา
ท้องผูก
ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด คุณแม่มักมีปัญหาท้องผูก หรือมีริดสีดวงทวาร หลังคลอดจึงควรรับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยประเภทผัก ผลไม้ และดื่มน้ำตามมากๆ หากยังมีปัญหาอีกควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ การใช้ยาระบายที่แรงเกินไปอาจมีผลต่อทารกที่ดูดนมแม่ ทำให้ทารกท้องเสียได้
ภาวะโลหิตจาง
หลังคลอดคุณแม่มักจะมีโลหิตจาง เนื่องจากในระหว่างคลอดมีการเสียเลือดจำนวนหนึ่งไม่มากก็น้อย ดังนั้น ในระยะหลังคลอดแพทย์มักจะแนะนำให้คุณแม่รับประทานยาบำรุงเลือดต่อ อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อบำรุงร่างกายให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
อาการซึมเศร้า
อาการซึมเศร้า หรือที่เรียกว่า Post Partum Blue มักเกิดขึ้นในช่วงระยะสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการนี้จะค่อยๆ หายไปเองภายใน 2-3 วัน อาการซึมเศร้านี้อาจเกิดความรู้สึกที่ไม่สุขสบายต่างๆ จากการคลอด มีอารมณ์ตื่นเต้น และหวาดกลัวกับการตั้งครรภ์และการคลอด อ่อนเพลียจากการคลอด หรือกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงบุตรบางรายที่กังวลกับเรื่องความสวยงาม เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรเตรียมใจรับกับภาวะเหล่านี้ จะได้ระงับยับยั้ง หรือแก้ไขได้ง่าย
“อาการซึมเศร้า มักเกิดขึ้นกับคุณแม่ในช่วงระยะสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งคุณพ่อควรเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ จะช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้”