หากจำแนกประเภทของ ‘โรคภูมิแพ้’ ที่พบบ่อยในปัจจุบัน จะสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท อาทิ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้ทางเดินอาหาร การแพ้ยา และ ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือ ภูมิแพ้อากาศ ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ยอดฮิตของคนยุคนี้
วันนี้ นพ.จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก รพ.พญาไท 2 จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้จักและป้องกันตัวได้ดีขึ้น
โรคภูมิแพ้ เกิดจากอะไร?
โรคภูมิแพ้ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เมื่อได้รับ “สารก่อภูมิแพ้” เข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการปฏิกิริยาที่ผิดปกติ สารก่อภูมิแพ้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง อาทิ ทางเดินหายใจ การกินอาหาร การสัมผัส ซึ่งโรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้ใน 2 สาเหตุหลัก คือ กรรมพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยการเกิดจากกรรมพันธุ์ มีความเป็นไปได้ว่า หากทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกจะเป็นก็มีสูงมากถึง 60%
อาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
ส่วนใหญ่แล้วโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจประกอบด้วยการแพ้ที่แสดงออกทางจมูก ช่องคอ หลอดลม โดยอาจมีอาการคันตา เคืองตา หรือมีน้ำตาไหลร่วมด้วย ซึ่งภูมิแพ้ทางเดินหายจะเกิดได้ใน 2 ส่วนหลัก คือ
- ทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณโพรงจมูก อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก หูอื้อ หายใจไม่สะดวกเพราะเนื้อเยื่อในจมูกบวมขึ้น
- ทางเดินหายใจส่วนล่างบริเวณหลอดลม ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด ไอเรื้อรัง เหนื่อยง่าย หรือเป็นโรคหืด ที่คนส่วนมากชอบเรียกว่าโรคหอบหืด
การแยกอาการของภูมิแพ้กับไข้หวัด
คนส่วนใหญ่มักแยกไม่ออกว่าอาการที่เป็นอยู่คือภูมิแพ้หรือไข้หวัด จริงๆ แล้วภูมิแพ้ทางเดินหายใจก็มีอาการคล้ายไข้หวัด คือมีจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่จะแสดงอาการเป็นเวลา เช่น อาการของภูมิแพ้จะมีแสดงในช่วงกลางคืนและช่วงเช้า ตื่นเช้ามาจะจามและมีน้ำมูกไหล พอออกจากบ้านเจอแดดก็หาย ซึ่งอาจเป็นผลจากไรฝุ่นบนที่นอนหรือตุ๊กตาก็ได้ บางรายอาจมีอาการตอนที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงอย่างแมวหรือสุนัข จะไม่ได้มีอาการตลอดเวลา ส่วนไข้หวัดจะมีอาการเหล่านี้เช่นกัน แต่จะเป็นตลอดเวลาและมักมีไข้ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น เสมหะเปลี่ยนสีร่วมด้วย
สารก่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจมีอะไรบ้าง?
สารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ทางเดินหายใจมีอยู่รอบตัวเรา ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายมีปฏิกิริยากับสิ่งไหน เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง แมลงสาบ เชื้อรา ละอองดอกหญ้า เกสรดอกไม้ และวัชพืชต่างๆ ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ หากสูดดมนำสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดปฏิกิริยาการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตา รวมถึงหลอดลมได้
ขอบตาดำเพราะภูมิแพ้จริงหรือไม่?
ขอบตาดำจากโรคภูมิแพ้ (Allergic Shiner) คือการที่ขอบตาดำคล้ำ อาจมีใต้ตาบวมร่วมจากโรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อเป็นภูมิแพ้จะมีอาการ เยื่อบุจมูกอักเสบ คันตา เคืองตา ตาบวม ตาแดง น้ำมูกไหล ไอ จาม โดยผู้ที่เป็นเรื้อรังมักเกิดเยื่อบุจมูกและตาบวม ทำให้เลือดดำไหลผ่านได้ยาก จึงคั่งอยู่บริเวณใต้ตา ทำให้เกิดเป็นรอยคล้ำใต้ตานั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีอาการเหล่านี้พยายามงดการขยี้ตาแรงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มรอยคล้ำและรอยเหี่ยวย่น ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และรักษาโรคภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง
ภูมิแพ้ทางเดินหายใจรักษาหายไหม ?
หัวใจสำคัญของการรักษาโรคภูมิแพ้คือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หลีกเลี่ยงมลพิษ เช่น pm2.5 ร่วมกับการพบแพทย์ ติดตามอาการ อาจมีการใช้ยาพ่นจมูก ใช้น้ำเกลือล้างจมูก รวมถึงรับประทานยาแก้แพ้เพิ่มเวลามีอาการ เพื่อช่วยให้อาการต่างๆ บรรเทาลง
ในกลุ่ม โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ และโรคหืด ปัจจุบันมีการรักษาด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) เพื่อให้อาการของโรคดีขึ้นหรือหายขาดได้
การรักษาด้วยวิธีการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) มี 2 วิธีหลัก คือ วิธีฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าใต้ผิวหนัง และค่อยๆ เพิ่มปริมาณทีละนิดทุกครั้งที่มาพบแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยสร้างภูมิที่ดีมาต้านปฏิกิริยาการแพ้ต่อสารนั้นได้ และอีกวิธีเป็นการใช้สารที่ผู้ป่วยแพ้อมใต้ลิ้นทุกวัน
ปัจจุบันในประเทศไทยวิธีอมใต้ลิ้น มีใช้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้ต่อไรฝุ่น ทั้งนี้ในการรักษาด้วยวิธีปรับภูมิคุ้มกัน (immunotherapy) ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น อาการแพ้ มีผื่น หายใจไม่ออก หรืออาจแพ้รุนแรงได้
โรคภูมิแพ้เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคหืด อาจไม่ใช่ภาวะที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์ทันที แต่หากปล่อยทิ้งไว้ และยังสัมผัสต่อสารแพ้ต่อเนื่อง อาจทำให้มีผลแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ไอเรื้อรังจากเสมหะไหลลงคอ มี ‘อาการหอบหืด’ เกิดเป็นโรคหืดที่คุมอาการไม่ได้จนอาจมีระบบหายใจล้มเหลวได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารที่ตนแพ้ พบแพทย์ ใช้ยาต่อเนื่อง และหากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาวิธีรักษาด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ต่อไป
คลินิกภูมิแพ้ โรงพยาบาลพญาไท 2 มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา ตอบทุกข้อสงสัย และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษา โรคภูมิแพ้ ที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป