สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบทันตแพทย์คืออาการปวดฟัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ และสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือ การมีฟันที่ผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟันจนทำให้ประสาทฟันเกิดอาการอักเสบ หากลุกลามมากขึ้นจะทำให้เนื้อเยื่อในฟันนั้นตายและเกิดการติดเชื้อในคลองรากฟัน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวด อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยการรักษารากฟัน
สาเหตุที่อาจทำให้ประสาทฟันเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้แก่
- ฟันผุ หรือฟันที่มีวัสดุอุดลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันผุซ้ำ หรือฟันผุเกิดใหม่ใต้ครอบฟัน
- ฟันแตก หรือร้าว
- การบาดเจ็บของฟันจากการกระแทก หรืออุบัติเหตุ
การรักษารากฟันเป็นกระบวนการที่จะกำจัดประสาทฟันที่อักเสบ หรือกำจัดการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน ทำให้สามารถเก็บฟันไว้ใช้งานต่อไปได้ กระบวนการรักษารากฟันจะมีขั้นตอนการรักษาคร่าวๆ ดังนี้
- กำจัดเนื้อฟันที่ผุ และเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน
- กำจัดประสาทฟันที่อักเสบหรือกำจัดการติดเชื้อด้วยการใช้เครื่องมือชิ้นเล็กๆ เข้าไปทำความสะอาด ร่วมกับการล้างด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อ
- หากไม่สามารถรักษารากฟันให้เสร็จในครั้งเดียว ทันตแพทย์จะใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟันและอุดวัสดุชั่วคราวไว้
- อุดวัสดุเข้าไปในคลองรากฟันที่ทำความสะอาดไว้แล้ว
- ฟันที่รักษารากฟันเสร็จแล้วมักจะต้องได้รับการทำครอบฟัน เพื่อป้องกันการแตกหักของตัวฟัน
ระยะเวลาในการรักษารากฟันขึ้นกับความซับซ้อนและการติดเชื้อของฟันที่รักษา บางกรณีสามารถทำการรักษาให้เสร็จภายในครั้งเดียวได้ แต่ในกรณีที่คลองรากฟันมีความซับซ้อน หรือมีการติดเชื้อในคลองรากฟันรุนแรงก็จำเป็นต้องใช้เวลารักษา2-4 ครั้งภายหลังการรักษารากฟัน ผู้ป่วยอาจมีการอาการปวดหรือเสียวฟันซี่ที่รักษาไป โดยจะมีอาการได้ประมาณ 2-5 วันภายหลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ และอาการปวดจะค่อยๆทุเลาจนหายไปเอง
จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าผลสำเร็จของการรักษาคลองรากฟันนั้นสูงถึง 90% อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่รักษารากฟันไปแล้วเกิดความล้มเหลวจากการที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดได้ในครั้งแรก หรือมีการผุเพิ่มหรือเกิดการแตกหักของตัวฟันในภายหลัง ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำกลับเข้าไปในคลองรากฟัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด บวม หรือมีตุ่มหนองขึ้นที่เหงือกซึ่งหากเกิดความล้มเหลวขึ้นแล้ว จะมีทางเลือกในการรักษา ดังนี้
- การรักษาคลองรากฟันซ้ำ ในกรณีที่สามารถรื้อวัสดุอุดส่วนตัวฟันออกได้ ทันตแพทย์จะทำการรื้อวัสดุอุดคลองรากฟันเก่าออก และทำความสะอาดคลองรากฟันใหม่อีกครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อก่อนที่จะทำการอุดวัสดุคลองรากฟันกลับเข้าไป แล้วจึงทำการบูรณะฟันขึ้นมาใหม่
- การผ่าตัดปลายรากฟันเลือกใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการรักษาคลองรากฟันซ้ำได้ เช่นมีครอบฟันและเดือยฟันขนาดใหญ่ ไม่สามารถรื้อออกได้ การรักษาคลองรากฟันครั้งแรกที่มีข้อจำกัดและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการรักษารากฟันซ้ำ การผ่าตัดคลองรากฟันจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยยังสามารถเก็บฟันไว้ได้ โดยหลักการคือการผ่าตัดเข้าไปที่ตำแหน่งปลายรากฟันที่เป็นหนอง ทำการตัดปลายรากฟันออกบางส่วน และทำการรื้อวัสดุอุดคลองรากฟันออกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ จากนั้นทำการอุดวัสดุเข้าไปในส่วนปลายรากฟันที่ทำความสะอาดไว้ โดยวัสดุนี้จะไม่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ และทำให้เกิดการหายของเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันขึ้น
การรักษารากฟันโดยใช้กล้องจุลศัลยกรรม
การรรักษาคลองรากฟันเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดมากเนื่องจากโพรงประสาทฟันและคลองรากฟันนั้นมีขนาดเล็ก บางกรณีก็เล็กเกินกว่าจะสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนโดยเฉพาะในฟันกรามที่มี 3-4 คลองรากฟัน รวมถึงในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการรักษาคลองรากฟัน การแก้ไขความผิดพลาดให้การรักษาประสบความสำเร็จนั้นอาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ หากไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ปัจจุบันมีกล้องจุลศัลยกรรมที่ช่วยเพิ่มกำลังขยายในการมองเห็นคลองรากฟันที่มีขนาดเล็กให้ชัดเจนยิ่งขึ้นการที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนย่อมเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงเพิ่มผลสำเร็จในการรักษารากฟันให้สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถรักษาเคสผู้ป่วยที่มีความยากและซับซ้อนได้ เพิ่มทางเลือกในการเก็บรักษาฟันให้แก่ผู้ป่วย แทนที่จะต้องถอนฟัน ออกประโยชน์ของกล้องจุลศัลยกรรมในการรักษารากฟัน ได้แก่
- เพื่อวินิจฉัยโรค ได้แก่ การหารอยร้าว หรือรอยแตกในตัวฟันและในคลองรากฟัน
- การเพิ่มกำลังขยายเพื่อหาคลองรากฟันในกรณีที่คลองรากฟันมีความตีบตันหรือมีความซับซ้อน เช่น คลองรากฟันมีการแยกเป็น 2-3 คลองรากในส่วนปลายรากฟัน หรือฟันที่มีลักษณะทางกายวิภาคที่ไม่ปกติ
- การซ่อมแซมรอยทะลุในคลองรากฟัน การรื้อเครื่องมือที่หักในคลองรากฟันหรือการรื้อเดือยฟัน
- การรักษาฟันที่ยังมีการเจริญของฟันไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะมีปลายรากฟันที่เปิดกว้าง
- การผ่าตัดปลายรากฟัน ที่จำเป็นต้องใช้กล้องจุลศัลยกรรมในหลายขั้นตอนของการผ่าตัด