คุณแม่ตั้งครรภ์ กินยาอะไรได้บ้าง?

คุณแม่ตั้งครรภ์ กินยาอะไรได้บ้าง?

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังเรื่องการใช้ยาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของครรภ์ เพราะเป็นช่วงสำคัญในการสร้างอวัยวะของทารก ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับยาที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก อาจส่งผลเสียที่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้

โดยความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกตินั้นจะขึ้นกับช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ระยะเวลาของการใช้ยา และปริมาณยาที่ได้รับ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้น โดยที่จะไม่ส่งผลเสียต่อทั้งตนเองและทารกในครรภ์ ดังต่อไปนี้

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน 

คลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่พบได้มาก โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ยาที่เลือกใช้ได้จะมีอยู่หลายอย่าง เช่น ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ออนแดนซีทรอน (Ondansetron) และ วิตามินบี 6 (Vitamin B6) 

ภาวะกรดไหลย้อนในคุณแม่ตั้งครรภ์

โรคกรดไหลย้อนในคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจเกิดจากหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารคลายตัวมากขึ้น หรือมดลูกมีการขยายตัวจนกดทับและเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองหลอดอาหาร เบื้องต้นให้เริ่มการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การนอนหมอนสูง หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จ และงดอาหารที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน หากปรับพฤติกรรมต่างๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจเลือกใช้ยาลดกรด เช่น ซูคราลเฟต (Sucralfate) เนื่องจากมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย หรือเลือกใช้ยา ฟาโมทิดีน (Famotine), โอเมพราโซล (Omeprazole), แลนโซพราโซล (Lansoprazole) หรือ แพนโทพราโซล (Pantoprazole) ก็ได้

คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องผูก

สาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องผูก อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน หรือมีธาตุเหล็กสูงจากการกินวิตามินเสริม รวมถึงการลดการเคลื่อนไหวร่างกายของคุณแม่ ยาที่ควรเลือกใช้เป็นลำดับแรก คือ ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ เนื่องจากยาจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เช่น ไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอย (Psyllium Husk) หากใช้ยากลุ่มนี้แล้วไม่ได้ผล สามารถเลือกใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide), แลคทูโลส (Lactulose) หรือ เซนน่า (Senna : มะขามแขก) ได้

คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องเสีย

เมื่อท้องเสียสามารถดื่มสารละลายเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ ส่วนยาฆ่าเชื้อควรเลือกใช้ตามความจำเป็นโดยคำสั่งแพทย์เท่านั้น และหากมีอาการท้องอืดร่วมด้วย สามารถเลือกใช้ยาไซเมทิโคน (Simethicone) ได้ เพราะจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด

คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นหวัด

สามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือชนิดล้างจมูก และใช้ยาลดน้ำมูก เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ตามความจำเป็น ส่วนยาบรรเทาอาการไอที่ใช้ได้ เช่น เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-acetylcysteine), กัวเฟเนซีน (Guifenesin), เด็กซ์โทรเมโทฟาน (Dextromethophan) และควรหลีกเลี่ยงยาน้ำที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ส่วนยาบรรเทาอาการคัดแน่นจมูกที่มีส่วนผสมของเมนทอล (Menthol) ที่ช่วยให้หายใจโล่งก็สามารถใช้ได้   

อาการปวดหลังในคุณแม่ตั้งครรภ์

สาเหตุอาจเกิดจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมีผลต่อการทรงตัวและการวางอิริยาบถของคุณแม่ ซึ่งมักเดินตัวแอ่นไปข้างหลังเพื่อพยุงตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังและเอ็นรอบข้อต่อหลังทำงานหนักขึ้น จึงเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังตามมา แนะนำให้คุณแม่ออกกำลังกายเพื่อคลายกล้ามเนื้อในท่าที่เหมาะสมกับหญิงตั้งครรภ์ ยาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในการลดปวด คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาแก้ปวดชนิดทาเฉพาะที่ เพื่อลดปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ไม่แนะนำให้ซื้อรับประทานเอง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยที่ต้องพิจารณาเลือกใช้เท่าที่จำเป็นในบางช่วงของอายุครรภ์ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง

คุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อแบคทีเรีย

ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะควรใช้ตามความจำเป็น โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากยาส่วนใหญ่สามารถส่งผ่านรกและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ตัวอย่างยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานที่สามารถใช้ได้ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin), อะม็อกซีซิลลิน-คลาวูลาเนท (Amoxycillin- Clavulanate) เป็นต้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

คุณแม่ตั้งครร์ควรใช้ยาอย่างไร?

ในช่วงตั้งครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย ควรใช้เมื่อพิจารณาแล้วว่า ‘ประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์’ และใช้ในขนาดที่ต่ำที่สุด ระยะเวลาสั้นที่สุดที่ได้ผลในการรักษา โดยควรเลือกใช้ยาที่มีการใช้มานานมากกว่ายาชนิดใหม่ๆ เนื่องจากมีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยามากกว่า ซึ่งยาใหม่จะมีข้อมูลการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาจะมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มขึ้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาในขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง

 


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...