Q : การกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิตมีอันตรายหรือไม่?
A : ไม่มีอันตราย หากกินตามปริมาณที่แพทย์สั่ง เนื่องจากเป็นฮอร์โมนจำเป็นที่ร่างกายต้องใช้เพื่อให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เป็นปกติ แต่หากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายสูงหรือต่ำกว่าปกติ การทำงานของร่างกายก็จะผิดปกติในหลายๆ ระบบ
Q : ต้องงดอาหารหรือระวังอาหารประเภทใดบ้างหากเป็นโรคไทรอยด์?
A : ไม่จำเป็นต้องงดหรือเว้นอาหารอะไร ให้รับประทานอาหารตามปกติ และไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมใดๆ
Q : หากมีก้อนที่คอ จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์หรือไม่?
A : ความเสี่ยงที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์คือ เกิดในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เป็นเพศชาย มีก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ มีอาการกลืนลำบาก หายใจลำบาก ถ้ามีความเสี่ยงเหล่านี้ควรมาพบแพทย์ โดยวิธีที่แม่นยำในการบอกว่าเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์หรือไม่นั้น คือการตัดเอาก้อนนั้นออกมาตรวจ หรือการดูดเอาเซลล์ที่ก้อนนั้นมาตรวจโดยแพทย์ที่ชำนาญ
Q : ผ่าตัดไทรอยด์แล้วจะไม่มีเสียงจริงหรือ ?
A : ปกติต่อมไทรอยด์จะวางอยู่บนเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียงเหนือหลอดลมอย่างแนบชิดมากๆ การผ่าตัดไทรอยด์มีโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาททั้งสองข้างได้ โดยมีโอกาส 1-5% แล้วแต่ขนาดก้อน ยิ่งก้อนใหญ่มากเท่าไหร่หรือก้อนอักเสบมากๆ โอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทก็จะมากขึ้นเท่านั้น การผ่าตัดแบบเปิดและการส่องกล้องโอกาสการบาดเจ็บแทบจะไม่ต่างกันในปัจจุบัน ถ้าบาดเจ็บเส้นประสาทที่ว่านี้จะทำให้เสียงแหบแห้งลงไปไม่เหมือนปกติ (ไม่ใช่ไม่มีเสียงเลย) เสียงอาจจะแหบชั่วคราว (3-6 เดือน ถ้าบาดเจ็บบางส่วนหรือแค่ช้ำๆ) หรือถาวรเลยก็ได้ (ในกรณีที่ตัดขาด 2 ท่อน) แต่ในขณะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะพยายามเก็บรักษาเส้นประสาทเส้นนี้อย่างดีที่สุด ระมัดระวังไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ เว้นแต่เหตุสุดวิสัยจริงๆ ที่อาจจะบาดเจ็บได้
Q : ผ่าตัดแบบเปิดกับการผ่าตัดส่องกล้องต่างกันอย่างไร ?
A : ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องเมื่อเทียบกับแบบเปิดที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ จะไม่มีแผลเป็นที่คอ ทั้งนี้ลงแผลผ่าตัดที่ไหนก็จะมีแผลเป็นที่นั่น เช่น ผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางรักแร้ ก็จะมีแผลเป็นที่แนวพับของรักแร้ ผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหัวนม ก็จะมีแผลเป็นตรงรอยต่อระหว่างหัวนมกับผิวหนัง และผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางปาก แผลจะถูกซ่อนไว้ในร่องระหวางฟันล่างกับริมฝีปากล่าง ทำให้ไม่มีแผลเป็น 100% ที่ผิวหนังนั่นเอง นอกจากนั้น การผ่าตัดส่องกล้องจะฟื้นตัวไวกว่าและเจ็บน้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิด
Q : ผ่าตัดไทรอยด์เสร็จแล้วมีอาการชา ต้องกินแคลเซียมไหม ?
A : ต่อมพาราไทรอยด์ ทำหน้าที่ผลิตพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีผลต่อระดับแคมเซียมในกระแสเลือด ต่อมพาราไทรอยด์วางอยู่ชิดกับต่อมไทรอยด์ข้างละ 2 ต่อม ทั้ง 2 ข้าง ในการผ่าตัดไทรอยด์ข้างใดข้างหนึ่งมักจะไม่เกิดปัญหานี้เนื่องจากอีกข้างยังมีต่อมพาราไทรอยด์อยู่นั่นเอง ปัญหามักจะเกิดกับคนที่จะต้องได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างออกไป โดยอาจจะตัดเอาพาราไทรอยด์ออกไปด้วยก็ได้ ซึ่งจะทำให้แคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ เกิดอาการชาตามมา ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดจะพยายามเก็บรักษาต่อมพาราไทรอยด์ทั้ง 4 ต่อมไว้ อีกกรณีหนึ่งคือ เก็บต่อมพาราไทรอยด์ไว้ได้ แต่เนื่องจากขณะผ่าตัดทำการเลาะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงต่อมพาราไทรอยด์ อาจเกิดการขาดเลือดชั่วคราว ทำให้ต่อมทำงานได้ไม่เต็มที่ชั่วคราว เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็กลับมาทำงานปกติ
Q : ผ่าตัดไทรอยด์ออกไปแล้วต้องทานยาต่อหรือไม่ ?
A : ถ้าผ่าตัดเพียงแค่ข้างเดียวออกไป ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนต่อ เนื่องจากเหลือต่อมไทรอยด์ไว้เพียงแค่ข้างเดียวก็สามารถทำงานได้ปกติ (จริงๆ เหลือปริมาณไทรอยด์แค่ 4 กรัม ก็สามารถทำงานได้) แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องตัดออกหมดทั้งสองข้าง คนไข้จำเป็นต้องรับประทานไทรอยด์ฮอร์โมนเม็ดเล็กๆ สีขาวตลอดไป
Q : ก้อนที่คอใหญ่ขนาดไหนถึงจะผ่าตัดส่องกล้องไม่ได้ ?
A : สำหรับการผ่าตัดส่องกล้องทางรักแร้ ขนาดไทรอยด์ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ไม่เกิน 6-7 ซม. และทำได้เพียงข้างเดียว ถ้ามีก้อน 2 ข้าง ก็ต้องเข้าทางรักแร้ทั้งสองข้าง ส่วนการผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางปาก ขนาดจะไม่เกิน 10 ซม. และผ่าตัดได้ทั้งสองข้าง พึงระลึกไว้เสมอว่า ยิ่งขนาดใหญ่มากเท่าใด การผ่าตัดก็จะยาก และโอกาสผ่าตัดส่องกล้องสำเร็จก็จะน้อยตามไปด้วย
Q : ไทรอยด์เป็นพิษ ผ่าตัดได้ไหม ?
A : สำหรับโรคไทรอยด์เป็นพิษ ปัจจุบันแนะนำให้เริ่มรักษาจากการรับประทานยาไปก่อนเป็นเวลา 2 ปี จะพิจารณาผ่าตัดก็ต่อเมื่อรับประทานยาไปแล้วมากกว่า 2 ปี แต่ระดับฮอร์โมนยังสูงอยู่ มีภาวะตาโปนหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นที่เกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแพ้ยา หรือไม่สามารถทนต่อการทานยาที่รักษาได้ เป็นต้น
Q : ก่อนและหลังผ่าตัดต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ?
A : ก่อนผ่าตัด สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่มีอาหารที่ต้องงดแต่อย่างใด ยกเว้น งดรับประทานอาหารเสริมจำพวกน้ำมันปลา หรือน้ำมันตับปลา (fish oil) เนื่องจากมักจะทำให้เลือดออกง่าย ก่อนการผ่าตัดพยายามอย่าเป็นหวัด เนื่องจากจะไม่สามารถดมยาสลบได้ หลังผ่าตัดในช่วง 24 ชั่วโมงแรก พยายามอย่าขับเสมหะแรง หรือไอแรงๆ หรือตะโกนเสียงดัง เนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ง่าย ส่วนการปฏิบัติตัวอื่นสามารถทำได้ตามปกติ