โรคฮิตจากวิถีชีวิตการทำงานที่ต้องใช้นิ้วพิมพ์คีย์บอร์ดทำงานกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา หรือจะเพื่อความบันเทิงอย่างการเล่นเกม เฟสบุ๊ค ไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือไอแพด ไอโฟนเป็นเวลานานๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อกได้
นิ้วล็อก เป็นการเสียดสีของเอ็นในช่องเอ็น ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อโคนนิ้วที่ทำหน้าที่ในการงอนิ้วหนาตัวขึ้น และรัดเอ็นทำให้เอ็นบวมเส้นเอ็นจึงเคลื่อนไม่สะดวก ขัด เจ็บพบมากกับนิ้วหัวแม่มือ นิ้วนาง นิ้วกลาง ส่วนนิ้วชี้และนิ้วก้อยพบได้น้อย นิ้วล็อกเกิดจากการใช้งานมืออย่างหนัก บีบ กำ หิ้วของหนักล้วนทำให้เกิดการเสียดสีและเส้นเอ็นบวมซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะวัยกลางคนขึ้นไป มักพบในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานอย่างหนัก เช่นพนักงานคีย์ข้อมูล แม่ครัว แม่บ้านที่ทำงานบ้าน อาการนิ้วล็อกขึ้นอยู่กับความรุนแรงโรค เช่น ปวดฝ่ามือ การงอหรือเหยียดนิ้วมีเสียง นิ้วงอไม่ได้ หรืองอได้แต่เหยียดไม่ออก สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 ปวดบริเวณโคนนิ้วมือด้านฝ่ามือ แต่ไม่มีอาการติดล็อก
- ระยะที่ 2 มีอาการปวดมากขึ้นกว่าระยะที่ 1 และเริ่มมีการสะดุดเมื่อขยับนิ้ว
- ระยะที่ 3 นิ้วติดล็อกเมื่องอ เหยียดไม่ออก ต้องใช้มืออีกข้างช่วยดึงนิ้ว หรือล็อกในท่าเหยียดงอไม่ได้
- ระยะที่ 4 อักเสบมากนิ้วงอติด ไม่สามารถเหยียดให้ตรง หากเหยียดจะปวด
การรักษาแบ่งเป็น 2 วิธีหลักคือ
- การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ทำได้หลายวิธี ได้แก่ การให้หยุดพักการใช้งานนิ้วมือ การรับประทานยาต้านการอักเสบของเส้นเอ็นยาแก้ปวด การกายภาพเอ็นข้อนิ้ว การประคบร้อน การนวดเบา ๆ การแช่น้ำอุ่น การบริหารนิ้วใช้หนังยางใส่นิ้วและดึงออก การฉีดยาลดการอักเสบสเตียรอยด์หรืออาจต้องเข้ารับการผ่าตัดให้เอ็นเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หากมีอาการรุนแรงรบกวนการใช้ชีวิต หรืออาการไม่ดีหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด การผ่าตัดจะช่วยให้ไม่กลับมาเป็นอีกโดยการตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาเพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้ไม่ติดล็อก
การป้องกัน
- เมื่อต้องทำงานที่ใช้มือต่อเนื่อง ควรพักเป็นระยะ ไม่ฝืนทำเป็นระยะเวลานาน
- ไม่หิ้วของหนักเกินไป
- หากรู้สึกนิ้วฝืด ติดขัดจากการทำงาน การทำกิจกรรมต่างๆ ควรแช่น้ำอุ่น เพื่อให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น