ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นโลกรอบตัว แต่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือสูงอายุ หลายคนอาจเริ่มประสบปัญหาการมองเห็นจุดลอย จุดดำ หรือเส้นดำลอยไปมา คล้ายหยากไย่ในลานสายตา ซึ่งเป็นอาการของภาวะ “วุ้นตาเสื่อม” ถึงแม้จะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานได้
ภาวะวุ้นในตาเสื่อม คืออะไร ? เกิดจากสาเหตุใด ? มีอาการต้องสงสัยแบบไหนบ้าง ? สามารถป้องกันหรือมีแนวทางการรักษาวิธีไหนได้บ้าง ? เพื่อดูแลสุขภาพสายตา และคุณภาพการมองเห็นที่ดี
สารบัญ วุ้นตาเสื่อม
- วุ้นในตาเสื่อมคืออะไร ?
- วุ้นในตา คืออะไร ?
- อาการวุ้นตาเสื่อม ที่สามารถสังเกตได้
- อันตรายและผลเสียจากปัญหาวุ้นตาเสื่อม
- สาเหตุวุ้นตาเสื่อม เกิดจากอะไร ?
- วุ้นในตาเสื่อมป้องกันได้หรือไม่ ?
- รู้ได้อย่างไรว่ามีปัญหาวุ้นในตาเสื่อม วิธีการตรวจมีอะไรบ้าง ?
- วุ้นในตาเสื่อมมีวิธีรักษาอย่างไร ?
- ถาม-ตอบ เรื่อง วุ้นในตาเสื่อม
- กินอะไรบำรุงวุ้นตาเสื่อม
- หยากไย่ในตา หายเองได้ไหม ?
- วุ้นตาเสื่อมใส่แว่นแบบไหน ?
- สรุปวุ้นตาเสื่อมป้องกันได้
วุ้นในตา คืออะไร ?
วุ้นในตา (Vitreous Humor) เป็นสารที่มีลักษณะคล้ายเจลใส ไม่มีสี อยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง มีปริมาณประมาณ 4 มิลลิลิตร หรือคิดเป็นประมาณ 80% ของปริมาตรลูกตาทั้งหมด วุ้นตาประกอบด้วยน้ำ ร้อยละ 95-98 % และสารอื่น ๆ อีก ได้แก่ คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และโปรตีนต่าง ๆ
หน้าที่สำคัญของวุ้นตาคือ เป็นตัวกลางให้แสงและภาพผ่านเข้าไปสู่จอประสาทตาได้ รวมถึง
- รักษารูปทรงของลูกตาให้คงที่
- ช่วยในการหล่อเลี้ยงเลนส์ตาและจอประสาทตา
- ป้องกันการกระทบกระเทือนของลูกตา
วุ้นในตาเสื่อมคืออะไร ?
วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของวุ้นในลูกตา ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีลักษณะใสคล้ายเจลอยู่ภายในลูกตา เมื่อเกิดการเสื่อมสภาพ วุ้นตาจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากเดิมที่มีความหนืดและใสกลายเป็นของเหลวมากขึ้น ทำให้เกิดการรวมตัวของโปรตีนและเส้นใยคอลลาเจนเป็นก้อนเล็ก ๆ ลอยอยู่ในวุ้นตา ส่งผลให้เกิดเงาดำหรือจุดลอย คล้ายหยากไย่ในลานสายตา การเสื่อมของวุ้นตาเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามอายุ โดยมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในคนอายุน้อยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สายตาสั้นมาก หรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ตา
อาการวุ้นตาเสื่อม ที่สามารถสังเกตได้
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะวุ้นในตาเสื่อม
- อาการทางสายตา
- เห็นจุดดำหรือจุดลอยในลานสายตา
- เห็นเส้นใยคล้ายใยแมงมุมลอยไปมา
- เห็นวงแหวนหรือรูปร่างต่าง ๆ ลอยในลานสายตา
อาการเหล่านี้มักเห็นชัดเจนเมื่อมองพื้นหลังสีขาวหรือสว่าง
- ลักษณะของการมองเห็น
- มีจุดลอย อาจเคลื่อนที่ตามการเคลื่อนไหวของตา หรือเรียกภาวะนี้ว่า Posterior Vitreous Detachment (PVD) ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกของวุ้นตา
- อาการอาจแย่ลงเมื่อมองจอคอมพิวเตอร์หรือท้องฟ้า
- บางครั้งอาจเห็นแสงวาบหรือแสงแฟลช
แล้วอาการแบบไหนที่ควรพบรีบแพทย์ ?
- เริ่มมีจุดสีดำที่ปรากฏนั้นมากผิดปกติ หรือปรากฏเป็นเวลานาน
- รู้สึกเห็นแสงวาบ คล้ายแสงแฟลชหรือแสงฟ้าผ่า
- เห็นเป็นสีดำคล้ายม่านบดบังการมองเห็น จนเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต
อันตรายและผลเสียจากปัญหาวุ้นตาเสื่อม
ภาวะวุ้นในตาเสื่อมสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในหลายด้าน เช่น การมองเห็น ผลกระทบทางจิตใจ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา
ผลกระทบต่อการมองเห็น
- รบกวนการอ่านหนังสือหรือการทำงานที่ต้องใช้สายตามาก
- อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยตาง่าย
- กระทบต่อการขับรถหรือทำกิจกรรมที่ต้องการความแม่นยำในการมองเห็น
ผลกระทบทางจิตใจ
- เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตา
- ความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง
- อาจเกิดภาวะซึมเศร้าในบางราย
ในด้านของความอันตรายของภาวะวุ้นตาเสื่อมที่หลายคนกังวล เนื่องจากเริ่มมีอาการต้องสงสัย ในเบื้องต้น อันตรายและผลเสียจากปัญหาวุ้นตาเสื่อม ในแต่ละเคสอาจต่างกัน บางเคสเมื่อเกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม แล้วไม่มีอันตราย แต่กลับบางรายอาจเกิดขึ้นมีอาการแทรกซ้อน ไปที่ต่อจอประสาทตา เสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาฉีกขาด อาจนำไปสู่ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก กระทบต่อการทำงานของจอประสาทตาซึ่งรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้
สาเหตุวุ้นตาเสื่อม เกิดจากอะไร ?
- อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวุ้นตาสามารถเกิดขึ้นกับทุกคน เนื่องจากเส้นใยคอลลาเจนเสื่อมสภาพ ไม่ต่างไปจากการเสื่อมสภาพของคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่น ขาดความยืดหยุ่น
- สายตาสั้นมาก ในเคสที่มีสายตาสั้นมาก โดยเฉพาะผู้ที่สายตาสั้นตั้งแต่ 600 ขึ้นไป จะมีขนาดลูกตาที่ยาว เมื่อมีการกลอกตาไปมาในชีวิตประจำวัน จะทำให้วุ้นตามีการแกว่งตัวมากกว่าผู้มีสายตาปกติ หรือขนาดลูกตาปกติ ซึ่งการแกว่างตัวมาก ๆ นี้จะยิ่งทำให้เส้นใยคอลลาเจนเสื่อมสภาพได้เร็วมากยิ่งขึ้น
- การได้รับบาดเจ็บที่ตา หากมีการผ่าตัดตา หรือดวงตาถูกกระทบอย่างรุนแรง เช่น ถูกชนกระทบ ถูกชกต่อย หรืออุบัติเหตุหกล้ม จนกระทบดวงตา อาจทำให้มีวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกตามมาในอนาคตได้
- โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในผู้เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะความโลหิตสูง จะทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กเกิดการเปราะ แตก รั่วซึม หรืออุดตัน ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเบาหวานขึ้นตา ยิ่งมีความเสี่ยงเกิดเลือดออกในวุ้นตาจากการแตกตัวของเส้นเลือดที่จอประสาทตา ส่งผลให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว
- การอักเสบในวุ้นตาและจอตา (Intermediate and Posterior Uveitis) เกิดจากการอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ หรือภาวะทางกายอื่น ๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น
วุ้นในตาเสื่อมป้องกันได้หรือไม่ ?
วุ้นตาเสื่อม เป็นภาวะปกติ ตามกระบวนการตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็สามารถป้องกันด้วยการดูแลตัวเองเพื่อชะลอความเสื่อมลงได้ ดังนี้
การดูแลสุขภาพตาทั่วไป
- พักสายตาอย่างเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง
- ป้องกันการถูกกระทบกระเทือนทางดวงตา เพื่อลดความเสี่ยงวุ้นตาเสื่อม
การรับประทานอาหาร
- เน้นอาหารที่มีวิตามิน A, C, E
- รับประทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ลดการสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำตาลในเลือด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
คำแนะนำ : หลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ หรือการกดนวดลูกตา ทำให้เกิดวุ้นตาเสื่อมและเกิดรอยฉีกขาดตามมา ควรตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากอายุเกิน 40 ปีและไม่เคยตรวจตามาก่อน ควรรีบเข้ารับการตรวจตาเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคตา ในเคสที่ตรวจพบเบาหวาน ควรตรวจตาร่วมด้วย เพื่อค้นหาภาวะโรคตาจากเบาหวาน เช่นภาวะวุ้นตาเสื่อม ต้อกระจกก่อนวัย รวมถึงเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
รู้ได้อย่างไรว่ามีปัญหาวุ้นในตาเสื่อม วิธีการตรวจมีอะไรบ้าง ?
หากรู้สึกสงสัย ว่ามีปัญหาวุ้นตาเสื่อม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยภาวะวุ้นในตาเสื่อมอย่างเหมาะสม ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น
- การตรวจพื้นฐาน : โดยจะมีการซักประวัติอาการ การตรวจวัดสายตา และการตรวจดูลักษณะภายนอกของตา
- การตรวจเฉพาะทาง : เช่น การตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่องมือพิเศษ, การถ่ายภาพจอประสาทตา และการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
วุ้นในตาเสื่อมมีวิธีรักษาอย่างไร ?
เมื่อมีการตรวจวินิจฉัยแล้วว่ามีปัญหาวุ้นตาเสื่อม วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เช่น
การรักษาแบบประคับประคอง : หากมีตะกอนในวุ้นตาไม่มากนัก ในเบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับอาการ การใช้แว่นตาที่เหมาะสม รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็จะช่วยให้ตะกอน หรือเงา ลดลงได้เองโดยไม่ต้องรักษาเพิ่มเติม
การรักษาทางการแพทย์ : หากมีอาการเยอะมีจอประสาทตาบาง ฉีกขาดร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยเลเซอร์ หรือ การผ่าตัดวุ้นตาในกรณีที่มีอาการรุนแรง
ถาม-ตอบ เรื่อง วุ้นในตาเสื่อม
กินอะไรบำรุงวุ้นตาเสื่อม
ในส่วนของอาหารตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีวิธีการอย่างแน่ชัดที่ช่วยชะลอการเกิดจอตาเสื่อมได้ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมทางร่างกาย เช่น การใส่แว่นกันแดดป้องกันรังสียูวีจากแดด การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
หยากไย่ในตา หายเองได้ไหม ?
ในกรณีที่มีอาการน้อย วุ้นตาเสื่อมในระยะเริ่มต้นมีอาการตาเห็นหยากไย่หรือมีลักษณะเส้น ๆ ลอยไปมาตามการกลอกตา หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะสามารถหายได้เอง แต่ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างจอประสาทตาเสื่อมหรือฉีกขาด และสังเกตได้ว่าตะกอนที่ลอยไปลอยมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีภาวะตามัวลง หรือมีแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลช เมื่อกลอกตาในเวลากลางคืนหรือเมื่ออยู่ในที่มืด ร่วมด้วยบ่อย ๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
วุ้นตาเสื่อมใส่แว่นแบบไหน ?
สำหรับผู้ที่มีปัญหาวุ้นในตาเสื่อม หากต้องทำกิจกรรมที่มีผลต่อตา ควรใส่แว่นป้องกัน เช่น แว่นที่เป็นเลนส์โพลีคาร์บอเนต ที่มีความโปร่งใส และแข็งมาก เหมาะกับกิจกรรมที่เสี่ยงป้องกันอุบัติเหตุทางตาได้ ส่วนในชีวิตประจำวัน เมื่อต้องออกไปข้างนอกแนะนำในใส่แว่นกันแดดป้องกันแสงยูวี เนื่องจาก แสงยูวีมีผลต่อความเสื่อมของวุ้นในตาให้เกิดได้เร็วขึ้นได้
สรุป วุ้นตาเสื่อม ดูแลและป้องกันได้
ปัญหาวุ้นตาเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอาจไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ทั้งหมด แต่สามารถชะลอการเกิดให้ช้าลงได้ ด้วยการดูแลสุขภาพตาที่ดี การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวาน เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงของอาการได้