โรคมะเร็งถือเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภท ระยะ และความรุนแรงของโรค เพราะหากเป็นแล้วอาจมีทั้งโอกาสในการรักษาหายและรักษาไม่หาย โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า หนึ่งในมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยคือมะเร็งเต้านม และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 4,654 คน อย่างไรก็ตาม การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกสามารถเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ และยังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวขึ้น
มะเร็งเต้านมตรวจเจอได้ในระยะเริ่มแรก
แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่พบในผู้หญิงไทยและมีความร้ายแรง แต่คุณผู้หญิงก็มีโอกาสที่จะตรวจพบสัญญาณหรืออาการเตือนในระยะเริ่มแรกได้ด้วยตนเอง โดยการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะมีโอกาสหายขาดได้สูงถึง 95% ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม
มีลักษณะทางกายภาพหลายชนิดที่คุณผู้หญิงสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง ได้แก่
- การคลำพบก้อนที่เต้านมหรือบริเวณรักแร้
- รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป
- มีสารคัดหลั่งที่ผิดปกติไหลออกมาจากเต้านม
- มีแผลเรื้อรังที่บริเวณหัวนม
- บริเวณลานนม มีรอยบุ๋ม รอยย่น หรือบวมหนา
- มีอาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม หรือ รักแร้
ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self-Examination: BSE) เป็นวิธีง่ายๆ ที่ผู้หญิงสามารถทำได้ที่บ้านเพื่อค้นหาความผิดปกติในเต้านมของตนเอง โดยควรทำทุกเดือนหลังจากมีประจำเดือน 7-10 วัน เพื่อให้การตรวจมีความแม่นยำสูงขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
การตรวจด้วยตา
-
- ยืนหรือนั่งหน้ากระจก : เริ่มต้นโดยการถอดเสื้อผ้าและยืนหรือนั่งหน้ากระจก ให้สังเกตรูปร่าง ขนาด และการเปลี่ยนแปลงของเต้านมทั้งสองข้าง
- ตรวจดูผิวหนัง : ดูว่ามีรอยบุ๋ม รอยย่น หรืออาการบวมหนาที่บริเวณเต้านมหรือไม่
- ตรวจดูหัวนม : ตรวจว่ามีแผลเรื้อรังหรือสารคัดหลั่งที่ผิดปกติไหลออกมาหรือไม่
การตรวจด้วยมือ
เริ่มจากการนอนหงาย วางหมอนใต้ไหล่ด้านที่จะตรวจ ยกแขนข้างนั้นขึ้นเหนือศีรษะ ใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างหนึ่งตรวจเต้านมและรักแร้ โดยคลำวนเป็นวงกลมจากหัวนมไปยังด้านนอกของเต้านมอย่างเบาๆ แต่มั่นคง เพื่อตรวจหาอาการผิดปกติ เช่น ก้อนแข็ง ผิวหนังที่หนาขึ้น หรืออาการเจ็บ ทำให้ครบทั้งสองข้าง และตรวจอีกครั้งในท่ายืน การตรวจด้วยตนเองเป็นการค้นพบเบื้องต้น และหากพบสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์ทันที
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจแมมโมแกรม
สำหรับคุณผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทุกปีด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์ของเต้านม โดยเครื่องนี้จะทำการบีบเต้านมที่วางอยู่ระหว่างแผ่นกระจกเพื่อให้ได้ภาพที่เห็นรายละเอียดในเนื้อเยื่อ โดยสามารถตรวจพบก้อนที่มีขนาดเล็กที่ไม่สามารถคลำพบได้ และหากทำการตรวจอัลตร้าซาวนด์ร่วมด้วย ก็จะเป็นการเพิ่มความแม่นยำยิ่งขึ้นในการวิเคราะห์ว่า สิ่งแปลกปลอมที่พบในเต้านมนั้นเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ และทันทีที่แพทย์สงสัยว่าสิ่งผิดปกติที่พบในเต้านมนั้นอาจเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะพิจารณาเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใดต่อไป
มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบที่อาจคุกคามสุขภาพของผู้หญิงทุกคน แต่ด้วยการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ และการรับรู้ถึงอาการเตือนในระยะเริ่มแรก จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้พบได้เร็วตั้งแต่ระยะแรกของโรค ซึ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและหวังผลการหายขาดได้มากกว่า
อย่ารอจนสายไป และอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ หากพบความผิดปกติใดๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ
เพราะการดูแลสุขภาพของตัวเองคือการลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิต