ตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจอะไรกันบ้าง (CHECK-UP)

พญาไท พหลโยธิน

3 นาที

พ. 11/09/2024

แชร์


Loading...
ตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจอะไรกันบ้าง (CHECK-UP)

หลายท่านอาจมีข้อสงสัยทำไมต้องไปตรวจสุขภาพทุกๆ ปี ทั้งๆ ที่ร่างกายก็ปกติดี ขนาดไข้หวัดยังไม่ไปหาหมอ จำเป็นแค่ไหนที่ต้องตรวจ? หรือสงสัยว่าต้องตรวจอะไรบ้าง?

 

การตรวจสุขภาพประจำปี ถือเป็นการประเมินสภาพร่างกายของเรา

สภาพภายนอกที่ดูแข็งแรงปกติ แต่ภายในอาจกำลังเจ็บป่วย หรือเกราะป้องกันที่เคยแข็งแรงกำลังทรุดตัวลงไปแล้วบ้างบางส่วน หากเราไม่สังเกต หรือตรวจเจาะลึกเข้าไปดู อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคตได้ การตรวจเช็ก และพบว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างในระยะเริ่มต้น  ก็อาจทำให้เราเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคได้แต่เนิ่นๆ ลดความเจ็บปวด ลดค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

 

เมื่อการตรวจสุขภาพสำคัญจริงๆ เราจะเริ่มตรวจจากอะไรก่อนดี ?

การเลือกว่าจะตรวจสุขภาพอะไรบ้างนั้น  สามารถแบ่งองค์ประกอบได้ตามอายุ เพศ และความเสี่ยงเป็นหลัก ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน ได้จัดโปรแกรมตรวจสุขภาพตรงตามความเหมาะสมในด้าน อายุ เพศ และวัย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ สามารถขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมหากต้องการตรวจเจาะลึกเฉพาะทางด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามความเสี่ยง พร้อมให้คำปรึกษาหากพบความผิดปกติ เพื่อรับการรักษาหลังการตรวจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และคำแนะนำสำหรับความเสี่ยงต่อโรคที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้คุณมีสุขภาพที่ดีอย่างยาวนาน

 

การตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน ตรวจอะไรกันบ้าง ?

  • Complete Blood Count (CBC) การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด คือการตรวจนับปริมาณเม็ดเลือดแดง ดูรูปร่าง และขนาดของเม็ดเลือดแดง เพื่อบ่งชี้ภาวะโลหิตจาง การตรวจนับปริมาณ และชนิดของเม็ดเลือดขาว เพื่อดูภาวะการติดเชื้อ และความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นสัญญาณนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงการตรวจนับปริมาณเกล็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่หยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล
  • Fasting Blood Sugar (FBS) คือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หลังงดอาหาร เพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
  • Hemoglobin A1c (HbA1c) คือ การตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด ในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมา โดยการวัดปริมาณน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกาย และไปจับกับโปรตีนในเม็ดเลือดแดง เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน และประเมินการควบคุมน้ำตาลหลังการรักษาของผู้เป็นเบาหวาน
  • Total cholesterol คือ การตรวจวัดระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวม ไม่สามารถแปลผลได้โดยตรง เพราะระดับคอเลสเตอรอลรวมสูง อาจเกิดจากระดับไขมันชนิดไม่ดีสูง หรือชนิดดีสูงก็ได้ คอเลสเตอรอลในอาหารพบมากในไข่แดง อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน นม และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง
  • LDLcholesterol คือ ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เป็นไขมันที่ไปเกาะสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง และตีบได้ ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  • HDLcholesterol คือ ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี ช่วยลดการสะสมของไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด โดย HDL ทำหน้าที่นำเอาคอเลสเตอรอลจากเนื้อเยื่อต่างๆ ไปทำลายที่ตับและขับออกจากร่างกาย HDLจึงมีบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  • Triglyceride คือ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำหน้าที่สะสมพลังงานจากอาหารที่เราทานเข้าไป หากมีปริมาณมากเกินไปจะสะสมในร่างกาย และเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้หลอดเลือดแข็ง นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง สาเหตุที่ทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง มาจากการรับประทานประเภทแป้ง และน้ำตาลมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • High sensitivity CReactive Protein (hsCRP) คือ การตรวจหาระดับโปรตีน CRP แบบที่มีความไวสูง ตรวจพบได้แม้จะมีปริมาณ CRP ต่ำ โดย CRP เกิดจากกลไกการอักเสบระดับเซลล์ในร่างกาย จึงถูกนำมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่
  • Uric acid คือ การตรวจวัดระดับกรดยูริกในเลือด ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคเกาท์ นิ่วทางเดินปัสสาวะ โดยสาเหตุที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม การบริโภคอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ได้แก่ สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ผักบางชนิด เช่น เห็ดต่างๆ ยอดผัก และแอลกอฮอล์
  • Blood Urea Nitrogen (BUN) คือ การตรวจวัดระดับปริมาณของเสียในร่างกาย กรณีที่ร่างกายปกติจะสามารถขับออกไปได้ หากการทำงานของไตผิดปกติก็จะเกิดการตกค้างของเสียเหล่านี้ในร่างกาย ทำให้ค่า BUN สูง ซึ่งบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ผิดปกติ
  • Creatinine (Cr) คือ การวัดระดับค่าของครีเอตินิน ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากกล้ามเนื้อ และขับออกจากร่างกายทางไต หากค่านี้สูงโดยที่ไม่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ก็หมายถึงการทำงานของไตผิดปกติ
  • ตรวจการทำงานของตับ (Alanine aminotransferase : ALT) คือ การตรวจค่าเอนไซม์ ALT ในร่างกาย หากมีการทำลาย หรือการอักเสบของตับ จะมีการหลั่งเอนไซม์นี้ออกจากตับสู่กระแสเลือดมากขึ้น โดย ALT พบได้มากในตับและไต พบได้น้อยในกล้ามเนื้อ หัวใจ และตับอ่อน
  • ตรวจการทำงานของตับ (Aspartate aminotransferase : AST) คือ การตรวจค่าเอนไซม์ ASTในร่างกาย โดย AST พบได้ในตับ ไต และเนื้อเยื่ออื่นๆ ค่า AST สูงพบได้ในโรคหัวใจ โรคตับอักเสบจากการดื่มสุรา การออกกำลังกายมากเกินไป
  • Alkaline Phosphatase (ALP) เป็นเอนไซม์ที่พบได้มากในตับ ทางเดินน้ำดี กระดูก ลำไส้เล็ก หากอวัยวะเหล่านี้ผิดปกติ หรือมีโรคใดๆ ที่กระทบ ย่อมส่งผลให้ค่า ALP สูงได้
  • การตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี (Viral hepatitis profile) คือ การตรวจคัดกรองหาภาวะการติดเชื้อ และระดับของภูมิคุ้มกันต่อโรค ซึ่งลดความเสี่ยงต่อการอักเสบของตับเรื้อรัง ที่จะนำไปสู่โรคมะเร็งตับในอนาคต

 

การตรวจสุขภาพเฉพาะทาง มีอะไรบ้าง ?

การตรวจสุขภาพแบบเฉพาะทางส่วนใหญ่จะตรวจตามความเสี่ยง โดยมีปัจจัย  เช่น ช่วงอายุ ประวัติทางพันธุกรรม หรือมีอาการผิดปกติ  โดยมีการตรวจ  เช่น ตรวจระดับค่าสารบ่งชี้มะเร็ง การตรวจทางรังสีวิทยา

  • AlphaFetoprotein (AFP) คือ การตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็ง หากพบว่าค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ก็ควรต้องตรวจโดยละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับอีกครั้ง
  • Carcinoembrionic Antigen (CEA) คือ การตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ อาจพบค่าสูงขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตับ ตับอ่อน และสามารถพบได้ในผู้ที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานาน หากพบค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จำเป็นต้องทำการตรวจโดยละเอียด เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • ProstateSpecific Antigen (PSA) คือ การตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจพบว่ามีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในผู้ที่มีต่อมลูกหมากอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การใช้ยาบางชนิด ควรทำการตรวจในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี
  • Cancer Antigen125 (CA125) คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ อาจพบว่ามีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในผู้ที่มีถุงน้ำรังไข่ ก้อนที่รังไข่ การอักเสบในอุ้งเชิงกราน หากค่าสูงก็ควรจะต้องตรวจโดยละเอียดกับสูตินรีแพทย์อีกครั้ง
  • Cancer Antigen153 (CA 153) คือ การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม มักใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจาย และการกลับมาเป็นใหม่ รวมทั้งติดตามการรักษา ไม่นิยมใช้คัดกรองในระยะแรกของโรค โดยการตรวจที่ได้ผลดี และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดคือ การตรวจเอกซเรย์ และอัลตราซาวน์เต้านม (mammogram)
  • Cancer Antigen 199 (CA 199) คือ การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งระบบทางเดินอาหาร เช่น ตับอ่อน ท่อน้ำดี ไม่แนะนำใช้ในการคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อน เนื่องจากความไวของค่า CA19-9 ในการตรวจยังน้อย แต่ใช้ในการตรวจติดตามการรักษา หากตรวจพบระดับค่าบ่งชี้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ก็ควรจะต้องตรวจโดยละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับอีกครั้ง
  • Electrocardiogram (ECG) คือ การตรวจสัญญาณคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ เพื่อช่วยในการค้นหาความผิดปกติเบื้องต้นของหัวใจ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากพบความผิดปกติ ควรจะต้องตรวจโดยละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
  • Chest xray (CXR) คือ การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูว่ามีก้อน หรือจุดผิดปกติในปอด หรือไม่ สามารถดูขนาดของหัวใจ ความผิดปกติของเยื่อหุ้มปอด และกระดูกซี่โครง แต่สำหรับมะเร็งปอด การตรวจเอกซเรย์ทรวงอกอาจตรวจไม่พบ เนื่องจากมีข้อจำกัดของการเอกซเรย์ หากสงสัยควรทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เพื่อความแม่นยำต่อการวินิจฉัย
  • Ultrasound Abdomen คือ การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง เพื่อหาความผิดปกติ และโรคของอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ไขมันพอกตับ นิ่วถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วที่ไต ต่อมลูกหมากโต ความผิดปกติของก้อน และถุงน้ำในอวัยวะต่างๆ รวมทั้งมดลูก รังไข่ อย่างไรก็ตาม การอัลตราซาวน์ช่องท้องมีข้อจำกัดในบางอวัยวะ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ หากต้องการความแม่นยำในการตรวจควรรับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่เพิ่มเติม
  • Bone Densitometry (BMD) คือ การตรวจค่าความหนาแน่นกระดูก ช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกมีความแข็งแรงในระดับใด มีภาวะกระดูกพรุน หรือไม่ โดยใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานต่ำ แนะนำตรวจในสตรีวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติกระดูกพรุนในครอบครัว การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน และผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราบ่อย สูบบุหรี่จัด


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...