การปลูกผมไม่ใช่แค่สำหรับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนก็เลือกทำการปลูกผมเพื่อปรับกรอบหน้าและเพิ่มความมั่นใจเช่นกัน การปลูกผมผู้หญิงในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากและไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนาน
ใครที่มีปัญหาผมบางศีรษะล้าน กำลังหาแนวทางการรักษาหรือพิจารณาการปลูกผมสำหรับผู้หญิงอยู่ เรามีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการปลูกผมผู้หญิง ข้อดี-ข้อเสียในแต่ละเทคนิค ระยะเวลาการเห็นผล รวมถึงความเหมาะสมในแต่ละบุคคลมาแนะนำ
สารบัญ การปลูกผมผู้หญิง
-
- รู้จักการปลูกผมผู้หญิง (Female Hair Transplant) คืออะไร ?
- ทำไมผู้หญิงถึงผมบาง หัวล้าน สาเหตุเกิดจากอะไร ?
- การรักษาปัญหาผมบาง ศีรษะล้านในผู้หญิง
- เทคนิคการปลูกผมผู้หญิง
- ปลูกผมผู้หญิงวิธี Follicular Unit Transplantation (FUT)
- ปลูกผมผู้หญิงวิธีFollicular Unit Extraction (FUE)
- วิธีดูแลตัวเองหลังการปลูกผมผู้หญิง
- การเลือกวิธีการปลูกผมผู้หญิงให้เหมาะกับตัวเอง
- การปลูกผมผู้หญิงเหมาะกับใครบ้าง ?
- ปลูกผมผู้หญิง กับ ปลูกผมผู้ชาย ต่างกันอย่างไร ?
- สรุป ปลูกผมในผู้หญิง หมดปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน เพิ่มความมั่นใจ
รู้จักการปลูกผมผู้หญิง (Female Hair Transplant) คืออะไร ?
การปลูกผมผู้หญิง คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาผมบางหรือผมร่วงในผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการย้ายรากผมหรือหน่วยรากผม (Hair Follicles) จากบริเวณที่มีผมหนาแน่น (Donor Area) ไปยังบริเวณที่ผมบางหรือศีรษะล้าน (Recipient Area) โดยมีหลักการสำคัญคือการใช้เส้นผมของผู้ป่วยเอง ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติและมีความปลอดภัย การปลูกผมในผู้หญิงสามารถช่วยแก้ปัญหาเส้นผมร่วง ผมบางบริเวณ ผมหายบางส่วน ศีรษะเถิก หนังศีรษะล้าน ได้จากหลาย ๆ สาเหตุ สามารถเรียกคืนความมั่นใจให้กับผู้หญิงได้อีกครั้ง
ทำไมผู้หญิงถึงผมบาง หัวล้าน สาเหตุเกิดจากอะไร ?
ผมร่วงเกิดจากอะไร ? ปัญหาผู้หญิงหัวล้าน ผมบางมาก ผมร่วง ที่นำพาไปสู่การรักษาด้วยการปลูกผมผู้หญิง มีหลายสาเหตุ เช่น ฮอร์โมน พันธุกรรม อายุ ภาวะเครียด โรคประจำตัว หรือแม้แต่การรักษาทางการแพทย์บางอย่าง
- ฮอร์โมน และพันธุกรรม : กว่า 50 % ของผู้หญิง ที่มีปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน เกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนสูง ซึ่งมักจะมาจากกรรมพันธุ์ร่วมด้วย โดยจะมีลักษณะผมจะร่วงหรือบางบริเวณกลางศีรษะและด้านข้าง
- อายุ : อายุที่มากขึ้นจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศที่ส่งผลกับผมอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจึงทำให้ผมบางลงกว่าที่เคยเป็น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน : ในผู้หญิงหลังคลอดบุตร/ระหว่างตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีอาการเครียดทางกายหรือทางอารมณ์ขั้นรุนแรง หรือหมดประจำเดือน ภายหลังจากสภาวะนั้นประมาณ 2-3 เดือน เส้นผมจะหลุดร่วงได้มากขึ้น
- โรคบางชนิด : โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางฮอร์โมน เช่น โรคภูมิแพ้ โรคต่อมไทรอยด์ อาจทำให้ผมร่วงได้
- ยาบางชนิด : การได้รับยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิว ความดัน หรือโรคข้อกระดูก ก็มีโอกาสเกิดปัญหาผมร่วง ผมบาง ทำให้ผู้หญิงศีรษะล้านได้
นอกจากนี่ยังปัจจัยอื่น ๆ เช่น การทำสีผมบ่อย ๆ การรวบผมตึง การสวมวิกผมจนหนังศีรษะร้อน เกิดเชื้อรา หากไม่รักษาก็อาจส่งผลให้ผมร่วง ผมบาง จนกระทั่งศีรษะล้านได้
การรักษาปัญหาผมบาง ศีรษะล้านในผู้หญิง
วิธีการแก้ปัญหาผมบาง ศีรษะล้านในผู้หญิงมีหลายวิธี เช่น การทำทรีตเมนต์เพื่อกระตุ้นให้การเกิดใหม่ของราก, การรักษาด้วยการปรับฮอร์โมน ,การทำเลเซอร์ รวมถึงการปลูกผม ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถคาดหวังในผลลัพธ์ได้ชัดเจน และให้ผลลัพธ์ที่ถาวร
โดยกระบวนการปลูกผมสำหรับผู้หญิงมีขั้นตอนเหมือนกับของผู้ชาย โดยจะเริ่มจากการนำกราฟต์ผมจากบริเวณที่มีความหนาแน่นของเส้นผมสูง (โดยปกติคือด้านหลังหรือด้านข้างของหนังศีรษะ) มาปลูกในบริเวณที่ผมบางในแต่ละเทคนิค
เทคนิคการปลูกผมผู้หญิง
ปัจจุบันมีเทคนิคหลัก ๆ ในการปลูกผมผู้หญิง 2 วิธี ได้แก่ Follicular Unit Transplantation (FUT) และ Follicular Unit Extraction (FUE) ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมกับปัญหาผมบาง ผมร่วงที่แตกต่างกัน
ปลูกผมผู้หญิงวิธี Follicular Unit Transplantation (FUT)
FUT หรือที่เรียกว่าเทคนิค “Strip Technique” เป็นวิธีการที่แพทย์จะทำการตัดหนังศีรษะบางส่วน ที่มีผมหนาแน่น (มักเป็นบริเวณท้ายทอย) ออกมาเป็นแถบยาว จากนั้นจะนำมาแยกเป็นกลุ่มของรากผม (Follicular Units) ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ แล้วนำไปปลูกในบริเวณที่ผมบางหรือแนวไรผม
ข้อดีของวิธี FUT
-
- สามารถเก็บเซลล์รากผมได้จำนวนมากในการผ่าตัดครั้งเดียว
- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผมในพื้นที่กว้าง
- อัตราการอยู่รอดของรากผมสูง เนื่องจากการเก็บรากผมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ประหยัดเวลาในการผ่าตัดเมื่อเทียบกับวิธี FUE
ข้อเสียของวิธี FUT
-
- เกิดแผลเป็นเส้นตรงบริเวณด้านหลังศีรษะ แม้จะมีขนาดเล็กแต่อาจมองเห็นได้หากผมสั้น
- ระยะเวลาการฟื้นตัวนานกว่า และอาจมีอาการปวดมากกว่า
ปลูกผมผู้หญิงวิธีFollicular Unit Extraction (FUE)
FUE เป็นเทคนิคที่ทันสมัยกว่า โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษเจาะเก็บรากผมทีละหน่วย (1-4 เส้น) จากบริเวณที่มีผมหนาแน่น แล้วนำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ โดยไม่ต้องตัดแผ่นหนังศีรษะออกเหมือนวิธี FUT จึงเจ็บน้อยและฟื้นตัวเร็วกว่า
ข้อดีของวิธี FUE
- ไม่เกิดแผลเป็นเส้นยาว มีเพียงรอยจุดเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
- ระยะเวลาฟื้นตัวสั้น ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดน้อยกว่า
- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไว้ทรงผมสั้น
- สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า
- สามารถเริ่มเห็นผลในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และผลเต็มที่ประมาณ 1 ปี
ข้อเสียของวิธี FUE
- ใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่า โดยเฉพาะหากต้องการปลูกผมจำนวนมาก
- อาจต้องโกนผมบริเวณที่เป็นแหล่งเก็บรากผม
- อาจเก็บจำนวนรากผมได้น้อยกว่าในการผ่าตัดครั้งเดียว
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Direct Hair Implantation (DHI) ที่ใช้เครื่องมือพิเศษในการปลูกผมโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาในการผ่าตัด
วิธีดูแลตัวเองหลังการปลูกผมผู้หญิง
-
- หลังเข้ารับบริการปลูกผมผู้หญิง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
- หลีกเลี่ยงความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่
- งดเว้นจากการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือกีฬา/กิจกรรมที่เพิ่มความดันโลหิต
- หลีกเลี่ยงสารเคมีที่รุนแรง ความร้อนจัด และการรัดผมแน่นในช่วงพักฟื้น
การเลือกวิธีการปลูกผมผู้หญิงให้เหมาะกับตัวเอง
การเลือกวิธีการปลูกผมที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยควรพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา ได้แก่
- รูปแบบการร่วงของผม : ผู้หญิงที่มีผมร่วงเป็นหย่อมชัดเจน เช่น บริเวณกลางศีรษะ หรือเส้นผมถอยร่นบริเวณหน้าผาก อาจเหมาะกับทั้งวิธี FUT และ FUE แต่หากมีการร่วงแบบกระจาย (Diffuse Thinning) ต้องประเมินความเหมาะสมอย่างรอบคอบร่วมกับแพทย์
- คุณภาพและปริมาณของบริเวณที่จะเก็บรากผม (Donor Area) : หากผู้ที่ต้องการปลูกผมมีผมบริเวณท้ายทอยที่มีหนาแน่นและคุณภาพดี การเลือกวิธี FUT อาจให้ประสิทธิภาพสูงกว่า แต่หากบริเวณนี้มีผมบางอยู่แล้ว วิธี FUE อาจเหมาะสมกว่า
- ทรงผมที่ต้องการไว้หลังการปลูกผม : หากต้องการทรงผมสั้นหรือมีโอกาสต้องไว้ผมสั้นในอนาคต วิธี FUE จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเส้นยาว
- ระยะเวลาในการฟื้นตัว : หากต้องการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เร็ว วิธี FUE จะมีระยะเวลาฟื้นตัวที่สั้นกว่าและมีอาการเจ็บปวดน้อยกว่า
- ความกังวลเรื่องแผลเป็น : ในเคสที่มีความกังวลเรื่องแผลเป็นมักเลือกวิธี FUE เนื่องจากไม่ทิ้งร่องรอยแผลเป็นที่ชัดเจน
- จำนวนกราฟต์ที่ต้องการ : หากต้องการปลูกผมจำนวนมากในครั้งเดียว วิธี FUT อาจเหมาะสมกว่า เนื่องจากสามารถเก็บกราฟต์ได้มากกว่า
- โรคประจำตัวและสภาพร่างกาย : ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ อาจจำเป็นต้องพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมเป็นพิเศษ
การปลูกผมผู้หญิงเหมาะกับใครบ้าง ?
การปลูกผมผู้หญิงจะเหมาะกับผู้ที่กังวลกับปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน ที่เหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีการปลูกผมดังนี้
-
- ผู้หญิงที่มีภาวะผมร่วงจากการดึงผมหรือการทำผมที่มากเกินไป (Traction Alopecia)
- ผู้หญิงที่มีภาวะ Trichotillomania (โรคดึงผม) และได้รับการรักษาจนควบคุมได้แล้ว
- ผู้หญิงที่มีผมหนาแน่นและแข็งแรงที่ท้ายทอย สามารถเก็บกราฟต์ผมได้อย่างเหมาะสม
- ผู้หญิงที่มีหน้าผากกว้างหรือมีแนวไรผมแบบผู้ชาย
- ผู้หญิงที่มีภาวะผมร่วงแบบเป็นแผลเป็น (เช่น Frontal Fibrosing Alopecia – FFA) และเข้าใจว่าผลลัพธ์อาจไม่เหมือนกับผู้เข้ารับการปลูกผมกลุ่มอื่น
ปลูกผมผู้หญิง กับ ปลูกผมผู้ชาย ต่างกันอย่างไร ?
เทคนิคการปลูกผมผู้หญิงและปลูกผมผู้ชายจะคล้าย ๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างสำคัญหลายประการที่ส่งผลต่อกระบวนการและผลลัพธ์ ดังนี้
-
- รูปแบบการร่วงของผม : ผู้ชายมักมีปัญหาผมร่วงแบบ Male Pattern Baldness ที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณชัดเจน เช่น หน้าผากถอย หรือกลางศีรษะล้าน ขณะที่ผู้หญิงมักมีการร่วงแบบกระจายทั่วศีรษะ (Diffuse Thinning) ทำให้การวางแผนปลูกผมและการกระจายกราฟต์มีความซับซ้อนมากกว่า
- สาเหตุของผมร่วง : ผมร่วงในผู้ชายมักเกิดจากพันธุกรรมและฮอร์โมน DHT เป็นหลัก แต่ในผู้หญิงมีสาเหตุที่หลากหลายกว่า เช่น ฮอร์โมน ภาวะเครียด โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะโลหิตจาง การขาดสารอาหาร หรือผลข้างเคียงจากยา ดังนั้นก่อนการปลูกผมในผู้หญิง จึงจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุและรักษาที่ต้นเหตุควบคู่ไปด้วย
- เส้นไรผม (Hairline) : ในผู้ชาย เส้นไรผมมักถอยร่นเป็นรูปตัว M ชัดเจน แต่ในผู้หญิง เส้นไรผมมักคงอยู่แม้จะมีผมบาง การสร้างเส้นไรผมใหม่ในผู้หญิงจึงต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมชาติและความสวยงามที่ต่างจากผู้ชาย
- ความหนาแน่นของเส้นผม : ผู้หญิงมักต้องการความหนาแน่นของเส้นผมมากกว่าผู้ชาย และต้องการผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติในทุกมุมมอง เนื่องจากทรงผมผู้หญิงมีหลากหลายรูปแบบและมักมีการจัดแต่งทรงที่ซับซ้อนกว่า
- บริเวณที่ปลูกผม (Recipient Area) : ในผู้ชายมักเน้นที่บริเวณด้านหน้าและกลางศีรษะ แต่การปลูกผมในผู้หญิง อาจต้องกระจายไปทั่วศีรษะหรือเน้นเฉพาะจุดขึ้นอยู่กับรูปแบบการร่วง
- ขนาดของกราฟต์ : ผู้หญิงมักต้องการกราฟต์ขนาดเล็ก (1-2 เส้น) เพื่อให้ได้ความหนาแน่นและความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ขณะที่ผู้ชายสามารถใช้กราฟต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ในบางบริเวณ
- ผลลัพธ์และความคาดหวัง : ปลููกผมในผู้หญิงมักมีความคาดหวังสูงกว่าในเรื่องของความหนาแน่นและความสวยงาม อย่างไรก็ตาม การปลูกผมในผู้หญิงอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจนเท่าในผู้ชาย เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้และรับกราฟต์
ปลูกผมในผู้หญิง หมดปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน เพิ่มความมั่นใจ
ปัจจุบันการปลูกผมผู้หญิงไม่ได้น่ากลัว ที่สำคัญไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้น หรือต้องโกนผม และได้รับผลลัพธ์ที่ดี จึงทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
หากใครกำลังพิจารณาการปลูกผม ในเบื้องต้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสภาวะผมร่วงของแต่ละคน หรือหากไม่มั่นใจว่าจะปลูกผมผู้หญิงที่ไหนดี ? สามารถปรึกษาศูนย์เส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลพญาไท 3 เราสามารถช่วยคืนความมั่นใจและช่วยให้คุณกลับมาดูดีขึ้นได้
พญ. วิภาวัน วัธนะนัย
ศัลยแพทย์ปลูกผมและแพทย์ผิวหนัง
ศูนย์เส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลพญาไท 3