รู้ไหม? วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน...สำคัญกว่าที่คิด!

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

อ. 14/04/2020

แชร์


Loading...
รู้ไหม? วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน...สำคัญกว่าที่คิด!

โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสหรือหายใจเอาละอองฝอยของสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไป ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคฮิบชนิดรุนแรง

โรคฮิบชนิดรุนแรงมักพบได้ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม ผู้ที่มีโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ โดยเชื้อฮิบอยู่ในระบบทางเดินหายใจของคนและแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางละอองอากาศ เมื่อผู้ที่มีเชื้อจามหรือไอ และมีการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจ

โรคหัด-โรคคางทูม-โรคหัดเยอรมัน สามโรคนี้อันตรายอย่างไรบ้าง?

    • โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสหัด ทำให้มีไข้สูง ไอ ตาแดง ผื่น บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ

 

    • โรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัสคางทูม ทำให้มีไข้ ต่อมน้ำลายอักเสบ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 

  • โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ทำให้มีไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้ออาจทำให้ทารกตายในครรภ์ หรือพิการแต่กำเนิดได้

วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน

ทำมาจากเชื้อไวรัสหัด คางทูม หัดเยอรมัน ที่ยังมีชีวิตแต่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลง ไม่ทำให้เกิดโรคในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันปกติ

ผู้ที่ “ควร” ได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน

    • เด็กไทยทุกคนที่แข็งแรงดี โดยฉีดครั้งแรกที่อายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง-4 ปี
    • หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่แข็งแรงดี ไม่เคยเป็นโรคหัดเยอรมัน และไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อน
  • นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้วัคซีนแก่วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีประวัติเป็นโรคหรือเคยรับวัคซีนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรทางการแพทย์ ทหารเกณฑ์ นักเรียน นักศึกษาที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ทั้งระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย ให้ฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

ผู้ที่ “ควรงด” รับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน

    • เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ในครั้งก่อน
    • แพ้สารเจลาติน หรือแพ้ยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin)
    • หญิงตั้งครรภ์
    • มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
    • เป็นมะเร็ง หรือกำลังรักษามะเร็ง ไม่ว่าด้วยวิธีฉายรังสี หรือยาเคมีบำบัด
    • รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น สเตียรอยด์
  • ผู้ที่เคยรับเลือด ส่วนประกอบของเลือด หรืออิมมูโนโกลบูลิน อาจรับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมันได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากต้องเว้นระยะในการให้วัคซีน หากมีไข้เจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน

    • อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามอาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ที่รับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน มักไม่มีปัญหาใดๆ
    • ปฏิกิริยาที่อาจพบหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจพบไข้ต่ำๆ ปวดตามข้อ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโตได้ ตั้งแต่ 6-12 วัน หลังฉีดวัคซีน อาการดังกล่าวมักไม่รุนแรง จะหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการปวดข้อ จะหายได้ใน 1-3 สัปดาห์ ปฏิกิริยารุนแรงพบได้น้อยมาก
  • หากมีอาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีนสามารถประคบเย็นได้ และหากมีไข้ต่ำๆ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ควรปรึกษาแพทย์

หมายเหตุ :

    • หญิงที่ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน
    • อาจพิจารณาให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมันแก่หญิงให้นมบุตรได้
    • แม้จะมีประวัติแพ้ไข่ ก็ยังสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ แต่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ และเฝ้าระวังอาการหลังได้รับวัคซีนอย่างใกล้ชิด
    • หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...