![]() |
วิวัฒนาการทางการแพทย์นั้น ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีสำหรับการตรวจหาความผิดปกติของร่างกายก็สำคัญไม่น้อย เพราะสามารถ ช่วยให้การรักษาเป็นไปได้สะดวก เห็นผลรวดเร็ว และแม่นยำกว่าการรักษาสมัยก่อน นวัตกรรมบางอย่างยังสามารถทำงานได้หลาก หลายรูปแบบ เป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยใน การตรวจประเมินอาการ และเป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึก ได้ฟื้นฟูร่างกายได้ อีก ด้วย
แพทย์หญิงดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา คลินิกหู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เครื่อง CDP หรือ Computerized Dynamic Posturography ว่าเป็นเครื่องวัดการทรงตัวที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ มีจุดประสงค์ในการทำงาน 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือใช้เพื่อตรวจและประเมินความผิดปกติของระบบความสมดุลของร่างกาย การทรงตัว และใช้ช่วยในการฝึกหรือฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะบางส่วนเกี่ยวกับการทรงตัว |
ในแง่ของการประเมิน ปกติการทรงตัวของคนเราจะมีทั้งระบบการมองเห็น ระบบ สัมผัสของร่างกาย เช่น ข้อต่อพื้นสัมผัสที่เท้า และระบบทรงตัวจากหูชั้นใน ซึ่งเครื่องจะสามารถประเมินได้ทุกระบบ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงาน มีอุปกรณ์ที่ใช้จำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่จะวัดว่าคนไข้มีปัญหาการทรงตัวจุดไหน แพทย์จะได้แก้ไขจุดนั้น เช่น เมื่อคนไข้ขึ้นไปยืน เครื่องจะมีสถานการณ์ต่างๆ ให้ทดสอบ อาจจะให้ยืนนิ่งๆ จากนั้นอาจจะให้ยืนแล้วหลับตา เพื่อตัดการมองเห็น แล้วดูว่าถ้าใช้ระบบอื่นช่วยในการทรงตัว คนไข้จะมีปัญหาหรือไม่ หรือสถานการณ์ต่อไปเครื่องอาจจะเลื่อนตัวพื้นที่คนไข้ยืนอยู่ หรือขยับตัวฉากที่คนไข้มองอยู่ เพื่อประเมินว่าสถานการณ์ต่างๆ นั้น คนไข้มีปัญหาจุดไหน นอกจากนี้เครื่องดังกล่าวยังสามารถประเมินระบบประสาทอัตโนมัติได้ อย่างเวลาที่คนเรายืน แล้วพื้นเลื่อน เราจะมีระบบประสาทอัตโนมัติช่วยในการพยุงร่างกาย เหมือนเป็นการรักษาสมดุลไว้ แต่ในบางคน เช่น คนที่อายุมากหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบนี้ ทำให้เวลาพื้นเลื่อนหรือเดินบนพื้นผิวที่เปลี่ยนไป จะรู้สึกเหมือนยืนได้ไม่มั่นคง เครื่องก็จะประเมินได้ว่าคนไข้มีปัญหาจุดไหน เช่น อาจจะเป็นที่กล้ามเนื้อบริเวณขาอ่อนแรง ข้อต่อไม่ดี หรือขาสองข้างอาจจะพยุงตัวได้ไม่เท่ากัน |
|
|
ในแง่ของการฝึกหรือฟื้นฟู เครื่องนี้จะมีโปรแกรมสำหรับให้คนไข้ฟื้นฟูเรื่องระบบทรงตัว ว่าจะให้คนไข้แต่ละรายฝึกอย่างไร อาจจะเป็นการบริหารร่างกาย หรือเกมต่างๆ เช่น ถ้าคนไข้มีปัญหาส่วนของกล้ามเนื้อขา ก็จะมีอุปกรณ์อื่นมาช่วย และมีโปรแกรมในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนที่เสีย ดังนั้นเครื่อง CDP นี้ จึงสามารถใช้ประเมินได้หลายโรค หลายอาการ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เวียนศีรษะเรื้อรัง รักษาด้วยยาอย่างเดียวแล้วยังไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างและเสี่ยงต่อการล้ม คนที่รู้สึกโคลงเคลง เดินเซ หรือคนไข้พาร์กินสันที่มีอาการสั่น ยืนไม่มั่นคง เป็นต้น เครื่อง CDP นี้ ตัวเครื่องจะมีลักษณะคล้ายห้องขนาดเล็กพอที่จะให้คนไข้เข้าไปได้เพียงคนเดียว มีสายสำหรับยึดพยุงคนไข้ เพื่อป้องกันการล้มหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นขณะตรวจ มีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมคอมพิวเตอร์อยู่ด้านนอก ใกล้กับตัวห้อง (หรืออาจจะเป็นนักกายภาพบำบัดระบบทรงตัวโดยตรงเข้ามาควบคุมโปรแกรมกับแพทย์ด้วย) โดยในแต่ละสถานการณ์จำลองสำหรับทดสอบ จะมีการทำซ้ำๆ ประมาณ 3 ครั้ง เพื่อจะได้ผลที่แน่นอน แล้วเครื่องจะคำนวณออกมาเปรียบเทียบกับค่าปกติในคนทั่วไป โดยอิงช่วงอายุแต่ละช่วง ซึ่งก่อนตรวจจะมีการใส่ข้อมูลคนไข้แต่ละราย อายุ เพศ โรคประจำตัว แล้วก็ประเมินออกมาเป็นตัวเลขและกราฟว่าระบบการทรงตัวแต่ละจุดของคนไข้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือผิดปกติ ทั้งนี้เครื่องจะมีซอฟท์แวร์สำหรับอัพเกรดตัวเครื่องให้ทันสมัยอยู่เสมอ |
แพทย์หญิงดลจิตต์พูดถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง CDP ว่า “ถือว่าดีมาก สามารถใช้ได้กับหลายๆ โรค ก่อนที่จะมีเครื่องนี้จะทดสอบโดยการตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท ซึ่งก็มีประสิทธิภาพดี เพียงแต่เครื่องนี้สามารถประเมินออกมาเป็นค่าตัวเลขได้ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ได้ชัดเจนว่าคนไข้มีปัญหาจุดนั้นจริงๆ”
เมื่อคนไข้ผ่านการประเมินระบบการทรงตัวหรือระบบประสาทอัตโนมัติด้วยเครื่อง CDP แล้ว แพทย์ก็จะทราบว่าขั้นตอนต่อไปในการรักษาคืออะไร อาจจะเป็นการฝึก การบริหารกล้ามเนื้อ หรืออาจจะส่งต่อแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องให้รักษาต่อไป ซึ่งทำให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างมีระบบ ชัดเจน และแม่นยำมากขึ้น