
อาการปวดหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ โรคเมตาบอลิก การอักเสบ ติดเชื้อ หรือความเสื่อมกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เป็นกันมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราสามารถป้องกันอาการดังกล่าวได้ด้วยการไม่ปล่อยให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระมากเกินไปจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นและท่าทางที่ไม่เหมาะสม
โรคอ้วน กับ อาการปวดหลัง เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคอ้วน หรือการที่มีน้ำหนักตัวเกิน ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในหลอดเลือด ไม่เพียงเท่านี้ โรคอ้วนยังก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้ เพราะร่างกายคนอ้วนต้องรับน้ำหนักมากกว่าคนปกติ มีผลทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว
โดยปกติแล้วกระดูกสันหลังเป็นแกนกลางของร่างกายที่ต้องคอยแบกรับน้ำหนักอย่างเต็มที่ ทุกอิริยบถการเคลื่อนของร่างกาย ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน ล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้กระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้นยิ่งน้ำหนักมากเท่าไหร่ กระดูกสันหลังยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะคนๆ นั้นมีภาวะอ้วนลงพุง น้ำหนักที่มากขึ้นบวกกับพุงที่ยื่นมาด้านหน้า ทำให้กล้ามเนื้อหลังออกแรงดึงมากขึ้น เอวแอ่นมาก และหากต้องดึงเป็นเวลานานๆ จะส่งผลให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักไม่สมดุลกัน อาจเคลื่อนหรือปลิ้นทับเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว ปวดหลังเรื้อรังร้าวลงไปขา บางครั้งอาจมีการอ่อนแรงร่วมด้วย
น้ำหนักตัวขนาดไหน ที่เรียกว่าเกินมาตรฐาน ?
น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานจะส่งผลต่อกระดูกสันหลังได้ ซึ่งเราสามารถดูค่ามาตรฐานได้จากค่าดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI ของแต่ละคนได้ โดยใช้สูตรการคำนวณหาค่า BMI ก็คือ = น้ำหนัก (เป็นกิโลกรัม) หารส่วนสูง (เป็นเมตร) ยกกำลังสอง
เกณฑ์ประเมินค่าดัชนีมวลกาย
ค่าที่ได้น้อยกว่า18.5 ผอมเกินไป
ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 อยู่เกณฑ์เหมาะสม น้ำหนักตัวปกติ
ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 25-29.9 น้ำหนักเกิน แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วน
ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 30-39.9 อ้วนแล้ว
ค่าที่ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 40 อ้วนเกินไปและอันตรายมาก
เช่น สมมุติว่าคุณหนัก 80 กก. สูง 175 ซม (1.75 เมตร) = 80 / (1.75 x 1.75) ค่า BMI = 26.14 *(ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 25-29.9 คุณน้ำหนักเกิน แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วน)
ไม่อยาก “หมอนรองกระดูกสันทับเส้นประสาท” ต้องทำอย่างไร?
โรคหมอนรองกระดูกสันทับเส้นประสาท มีสาเหตุสำคัญหลายประการนอกจากความอ้วน โรคนี้มีแนวโน้มมากขึ้นในกลุ่มทำงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ การยกของหนัก การเดิน ยืน นั่งที่ผิดสุขลักษณะ หรือเล่นกีฬาที่ผิดท่าหรือรุนแรงรวมถึงผู้ที่ไม่นิยมออกกำลังกาย
สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลัง และเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ดังที่กล่าวมา พร้อมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกาย พยายามลดน้ำหนักตัวแต่ไม่ใช่การอดอาหาร แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และงดเว้นการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง หลีกเหลี่ยงการยกของหนักปรึกษาแพทย์และรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือสังเกตเห็นความผิดปกติของตนเอง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สมองและกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร. 02-467-1111 ต่อ 3262