
หากย้อนกลับไปในอดีต ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน (Heart Attack) จะได้รับการรักษาเพียงประคับประคอง ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 30% จนกระทั่งในปี พ.ศ.2504 การรักษาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยวิกฤติโรคหัวใจ (Cardiac Care Unit: CCU) เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 15% หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็เริ่มมีการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดโดยเฉพาะ (Fibrinolytic therapy) อัตราการเสียชีวิตจึงลดลงเหลือเพียง 7-8%
ลดการสูญเสีย ด้วยวิทยาการ
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่หลากหลายต่อยอดจากการใช้เพียงบอลลูน ไปสู่การใช้ขดลวด, ขดลวดเคลือบยา และอื่นๆ ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง ช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นโรคซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
การรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ไม่เพียงใช้เพื่อการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน (Heart Attack) เท่านั้น แต่การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดยังสามารถใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมาก แต่ยังไม่ถึงขนาดอุดตัน, หลอดเลือดตีบที่อวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง หรือแขน-ขา ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น สามารถที่จะใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติได้ดีขึ้น
โดยสรุปการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่หลอดเลือดตีบมาก จะได้รับการรักษามาตรฐานคือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดเคลือบยา
ผสานนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ทำการก่อตั้งศูนย์หัวใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ได้ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจโดยการสวนหัวใจและทำการขยายหลอดเลือดหัวใจมาเป็นจำนวนมาก จึงมีความเชี่ยวชาญ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการรักษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ล่าสุด ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 จึงได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ( Philips รุ่น Azurion7 C12) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่จะช่วยให้การตรวจรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น อาทิ
- Touch Screen Module ช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมและสั่งงานเครื่องเอกซเรย์โดยระบบสัมผัสข้างเตียง
- Monitor ceiling suspension with FlexVision จอแสดงผลความละเอียดสูงขนาด 58 นิ้ว ทำให้สามารถแสดงผลภาพหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองและหลอดเลือดทั่วไปได้ชัดเจน และสามารถประมวลผลร่วมกับการตรวจวินิจฉัยจากเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ได้อย่างคล่องตัว
- ชุดหลอดเอกซเรย์ ที่มาพร้อมชุดประมวลผล AzurionIQ ระบบใหม่ล่าสุด สามารถแสดงภาพหลอดเลือดหัวใจได้อย่างคมชัด และยังสามารถช่วยลดปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจรักษาให้น้อยมากที่สุดเท่าที่จำเป็น เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษา
- Dynamic Roadmap มีซอฟแวร์อันชาญฉลาดสำหรับการสร้างภาพแผนที่หลอดเลือดนำทางของหลอดเลือดหัวใจโดยเฉพาะ และสามารถเคลื่อนไหวไปพร้อมกับการเต้นของหัวใจในภาพเอกซเรย์ต่อเนื่องแบบ Real time
- 3D-Rotational Angiography (3D-RA) สามารถเก็บข้อมูลภาพการเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจ แบบ 3 มิติ ได้ภายในการตรวจ 1 ครั้ง เพื่อให้คนไข้ได้รับการฉีดสารทึบรังสีน้อยที่สุด
- StentBooth, StentBooth Live ระบบซอฟแวร์ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับขดลวดตาข่าย (Stent) ที่ใช้ในการรักษา
แม่นยำยิ่งขึ้นด้วย IVUS และ iFR-FFR
Intravascular Ultrasound: IVUS คือเทคโนโลยีการมองภาพจากภายในหลอดเลือดโดยตรง (Intracoronary Imaging) ทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบว่าเกิดจาก พังผืด ไขมัน หรือเป็นหินปูน ทั้งยังสามารถทราบถึงขนาดหลอดเลือด ตำแหน่งของตะกรัน ซึ่งทำให้การตรวจวิเคราะห์แม่นยำกว่าการฉีดสีเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการฉีดสีจะเห็นได้เพียงว่าหลอดเลือดตีบเท่าไร
อีกสิ่งหนึ่งคือ เทคโนโลยีการวัดการไหลเวียนของเลือดโดยตรง (Physiologic Imaging) สำหรับวัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้ยาเป็นตัวช่วย (Fractional Flow Reserve: FFR) และซอฟแวร์สำหรับวัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้ยา (Instantaneous Wave Free Ratio: iFR) ซึ่งจะช่วยให้การตรวจวัดภาวะหัวใจขาดเลือดแม่นยำยิ่งขึ้น
จากรายงานวิจัยพบว่า การตรวจรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการฉีดสี ถ้าได้รับการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วย IVUS หรือ FFR จะช่วยให้ผลการตรวจรักษาดีกว่าเดิมมาก ปัจจุบันจึงมีคำแนะนำให้ใช้ IVUS หรือ FFR ประเมินภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบก่อนที่จะพิจารณารักษาโดยขยายหลอดเลือดในหลายกรณี เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบตรงส่วนขั้วหัวใจ, เส้นเลือดหัวใจที่ตีบหลายๆ เส้นหรือหลายๆ จุด และเส้นเลือดที่สงสัยว่ามีหินปูนเกาะจำนวนมาก เป็นต้น
นพ.สุวัฒน์ คงดำรงเกียรติ
อายุรแพทย์โรคหัวใจและหัวหน้าศูนย์หัวใจ
โรงพยาบาลพญาไท 3
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โทร. 0-2467-1111 ต่อ 3290