แม้จะเคยผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่กลับไปเป็นซ้ำเดิมอีกครั้ง เพราะหากดูแลตัวเองไม่ดี อาการปวดหลังแบบเดิมก็อาจมาเยือนอีกได้ ฉะนั้นผู้ป่วยจึงควรดูแลตัวเองให้ดีหลังการผ่าตัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว หลีกเลี่ยงอาการปวดหลังได้อย่างถาวร
เมื่อมีอาการปวดหลัง…เปลี่ยนพฤติกรรมด่วน!
อาการปวดหลังนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปวดตามแนวกระดูกสันหลัง ปวดช่วงไหล่ บั้นเอว หรือหลังช่วงล่าง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง… เราจึงมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว ว่าต้องทำอย่างไรให้ห่างไกลอาการปวดหลัง
- การออกกำลังกายแบบไอโซเมตริก (Isometric Exercise) คือการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง โดยการเกร็งกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งสักครู่แล้วคลายสลับกัน โดยไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น การดันกำแพง การออกแรงบีบวัตถุ หรือออกแรงดึงเก้าอี้ตัวที่เรานั่งอยู่ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งป้องกันการเสื่อมก่อนวัยของหมอนรองกระดูก
- การนอน การนอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย คือให้นำหมอนมารองบริเวณขา และเมื่อจะลุกจากที่นอนหรือลงจากเตียงก็ควรทำในท่านอนตะแคง
- อาหาร เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผักใบเขียว ปลาตัวเล็กๆ ที่สามารถทานได้ทั้งตัว อย่าลืมดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ส่วนอะไรที่ไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยา ผู้ป่วยควรรับประทานยาภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น! และถ้ามีอาการผิดปกติหรือแพ้ยา ให้หยุดยาทันทีและไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
จะดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังและรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด ช่วงพักฟื้นร่างกายถือเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะหากทำอย่างถูกต้องก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นโรคเดิมได้อีก งั้นเรามาดูกันเลยดีกว่าว่าในแต่ละช่วงควรดูแลตัวเองยังไงบ้าง
- สัปดาห์ที่ 1-4 หลังผ่าตัด
การนอน : การนอนคือการพักร่างกายที่ดีที่สุด ในช่วง 1 เดือนหลังผ่าตัด คนไข้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
การออกกำลังกาย : แม้ว่าช่วงหลังผ่าตัดจะไม่ควรออกกำลังรุนแรง แต่ก็ควรให้ร่างกายได้ขยับอย่างช้าๆ ด้วย “การเดิน” โดย
-
- ช่วงวันที่ 2-7 : เดิน 5-10 นาที แบบช้าๆ รอบๆ บ้าน
- ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 : เดิน 10-15 นาที โดยใส่รองเท้ากีฬาที่เหมาะสม เพื่อรองรับแรงกระแทก เวลาที่ผู้ป่วยเริ่มเดินในระยะที่ไกลขึ้น
- ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 : เดิน 15-30 นาที โดยยังคงใส่รองเท้ากีฬาที่เหมาะสมเหมือนเดิม
การนั่ง : เพราะการนั่งมีโอกาสกระทบกระเทือนกับกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังให้ดี
- ช่วงวันที่ 1-3 : นั่งได้ไม่เกิน 15 นาที หรือถ้ามีอาการปวดตึงให้ค่อยๆ เอนตัวลงนอนทันที
- ช่วงวันที่ 4 – สัปดาห์ที่ 1 : นั่งได้ไม่เกิน 20 นาที หรือถ้ามีอาการปวดตึงให้ค่อยๆ เอนตัวลงนอนหรือสลับลุกขึ้นเดิน
- ช่วงสัปดาห์ที่ 2 : ไม่ควรนั่งนานเกิน 30 นาที หรือถ้ามีอาการปวดตึง ให้ค่อยๆ เอนตัวลงนอนพักทันที
- ช่วงเดือนที่ 1 : พยายามอย่านั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 45 นาที
การนั่งรถยนต์ : ไม่ควรนั่งนานเกิน 45-60 นาที หากครบแล้วควรหยุดพักให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และสามารถขับรถได้เองอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และจอดรถยืดเส้นยืดสายทุก 1 ชั่วโมง ทั้งนี้หลังการผ่าตัดไม่ควรนั่งรถมอเตอรไซค์ จักรยาน หรือแม้แต่รถสามล้อโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการกระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังได้ง่าย
กิจกรรมอื่นๆ : ผู้ป่วยไม่ควรออกแรงทำกิจกรรมใดๆ หรือกิจกรรมที่ต้องมีการบิดเอี้ยวลำตัว งดการมีเพศสัมพันธ์ การถือของหนักเกิน 1.5 กก. และต้องใส่ L-S support ทุกครั้ง และถ้ามีอาการแสบร้อนที่ขา ก็สามารถเอาน้ำเย็นมาประคบได้ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาจะดีที่สุด
- เดือนที่ 2-3 หลังผ่าตัด
การออกกำลังกาย : หลังการผ่าตัด 1 เดือน คนไข้สามารถเปลี่ยนจากการเดินช้าเป็นเดินเร็วขึ้น ประมาณ 15-30 นาที โดยใส่รองเท้ากีฬาที่เหมาะสมเพื่อรองรับแรงกระแทก และสามารถว่ายน้ำได้โดยเลี่ยงท่าผีเสื้อและท่ากบ เพราะมีการใช้กล้ามเนื้อหลังและมีการแอ่นเอวมาก ทั้งนี้ ไม่ควรเล่นฟุตบอล แบดมินตัน หรือวิ่ง
การนั่งรถยนต์ : ควรเลี่ยงการโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือตุ๊กตุ๊ก หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ผู้ป่วยต้องสวม L-S Support ทุกครั้ง
กิจกรรมอื่นๆ : การสวมใส่เสื้อผ้า ควรนั่งใส่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ขณะที่เพศสัมพันธ์นั้นสามารถมีได้ แต่ควรเลี่ยงท่าที่ใช้หลังและเอว ส่วนการยกของนั้นไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักเกิน 3 กก.
- เดือนที่ 4 หลังผ่าตัด
คนไข้สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่ต้องรักษาสมดุลช่วงหลัง ทำกิจกรรมต่างๆ ในท่าที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ และหากเกิดความผิดปกติขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที
เพียงเท่านี้ ก็สามารถลดโอกาสของการกลับไปผ่าตัดกระดูกสันหลังซ้ำได้แล้ว และอย่าลืมว่า หากเกิดความผิดปกติขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที แม้จะเป็นการปวดหลังธรรมดาๆ ก็ตาม