ฟื้นตัวเร็ว เดินได้ดี ด้วยวิธีดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

พญาไท 1

1 นาที

06/05/2022

แชร์


Loading...
ฟื้นตัวเร็ว เดินได้ดี ด้วยวิธีดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแล้ว เมื่อผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน หลายคนอาจจะยังมีอาการปวดๆ ตึงๆ มีอาการบวม ช้ำ หรือพบจ้ำเลือดกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณต้นขา ข้อพับ เข่า น่อง ข้อเท้า อาการเหล่านี้ถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้ ในกรณีที่หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถฝึกทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง อย่าเพิ่งผาดโผนหรือออกกำลังหัวเข่ามากจนเกินไป

 

สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

  • บริหารหัวเข่าและกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ และพยายามงอเข่าให้ได้มากที่สุดและเริ่มฝึกให้เร็วที่สุดหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกต้องขยันฝึก เพื่อป้องกันข้อเข่าติดแข็ง งอหรือเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะทำให้การเดินไม่ปกติได้
  • การฝึกขึ้นลงบันได โดยให้เอาขาข้างดีหรือข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดขึ้นก่อน แต่ในการลงบันไดให้เอาขาข้างที่เจ็บหรือข้างที่ผ่าตัดลงก่อน การใช้ไม้เท้าหรือเครื่องค้ำยันระหว่างเดินขึ้นลงบันไดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • ใน 2 สัปดาห์แรก ควรฝึกเดินด้วยไม้ค้ำยันหรือคอกช่วยเดิน เพื่อช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้กดทับหัวเข่ามากเกินไป และป้องกันการลื่นล้ม เมื่อผู้ป่วยมีความมั่นใจและแข็งแรงขึ้นจึงค่อยเดินโดยไม่ใช้เครื่องค้ำยัน
  • ทุก 1-2 ชั่วโมง ควรฝึกเดินในระยะสั้นๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อค่อยๆ แข็งแรงขึ้นและไม่ยึดติด แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทางหรือเวลาการฝึกให้มากขึ้น
  • หลังการฝึกเดินหรือเมื่อต้องนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน ควรหาเวลานอนพักและยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้หมอนหนุนบริเวณขา เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของเลือดและของเหลวในร่างกาย ควรวางแผ่นประคบเย็นที่เข่าเพื่อลดอาการบวม
  • การทำกิจวัตรประจำวัน ควรทำอย่างช้าๆ เช่น เวลาเอี้ยวตัว หมุนตัว ก้มตัว ลุกขึ้นนั่งจากที่นอน การล้มตัวลงนอน การลุกขึ้นยืน ไม่ควรทำอย่างทันทีทันใด ผู้ป่วยสามารถนอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัดได้ แต่ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าให้ขาข้างที่ผ่าตัดถูกทับนานเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เพื่อช่วยลดแรงกระแทกและให้เข่าเทียมไม่ต้องรองรับน้ำหนักมากเกินไป
  • หลังจากเดินคล่องและหายเจ็บแล้ว อาจเพิ่มการออกกำลังกายแบบไม่ใช้แรงกระแทก เช่น การเดินในน้ำ ว่ายน้ำ โดยต้องแน่ใจว่าแผลหายและแห้งสนิทแล้ว โดยควรปรึกษาแพทย์ ส่วนการเดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือรำไทเก็กควรเริ่มจากเบาๆ และใช้เวลาไม่มากเกินไป
  • ดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หากจะต้องมีการรักษาฟัน ขูดหินปูน ทำฟัน ถอนฟัน หรือรักษาโรคอื่นๆ ใน 2-3 ปีหลังจากการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมาก่อน เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้ยาป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจลุกลามไปถึงข้อเข่าเทียมได้จากการทำฟันหรือการผ่าตัด
  • เข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินสุขภาพเข่า รวมถึงการเอกซเรย์หัวเข่า และการตรวจร่างกายตามที่แพทย์แนะนำ

 

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

  • ใน 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ไม่ควรขับรถ หลังจากนั้นควรขับรถในระยะที่ไม่ไกลนักก่อน
  • ใน 6 สัปดาห์แรกหลักการผ่าตัด ไม่ควรยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม
  • ในระยะแรกไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งบนเก้าอี้เตี้ย หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อยเกินไป
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ ที่ต้องงอหัวเข่ามากๆ หรือยืด-หดหัวเข่าอย่างรวดเร็ว
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ กระแทก กระโดดหรือใช้เข่ามากๆ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส วิ่ง
  • หลีกเลี่ยงการเดินหรือทำกิจกรรมในที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่เดินบนพื้นที่เปียก โดยเฉพาะบริเวณห้องน้ำ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในท่าที่ต้องบิดเข่าหรืองอเข่าเกินกว่า 90 องศา

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่บริเวณแผลผ่าตัดมีลักษณะแดง ร้อน มีสิ่งคัดหลั่งผิดปกติ เช่น มีของเหลวสีเหลืองไหลออกมา มีอาการปวดเข่ามากกว่าเดิมมาก แม้จะกินยาแก้ปวดแล้วก็ยังปวดอยู่มาก  งอเหยียดเข่าได้ช้าลงจากที่เคยฝึกแล้วทำได้ดี หรือแม้ไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าว แต่เกิดอุบัติเหตุเข่ากระแทก หกล้มจนเดินไม่ไหว หรือลงน้ำหนักที่ข้อเข่าแล้วปวดมากกว่าปกติ ขาบวมตึงและปวดมากขึ้น หัวเข่าหรือขามีสีผิวคล้ำขึ้น มีความรู้สึกว่าข้อเข่าหลวมหรือบิดผิดปกติ มีไข้ หากมีอาการดังกล่าวเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...